ครั้งแรกของแพทย์แผนไทยที่รวมพลังเครือข่ายเกือบ 1,000 คน ร่วมพลิกฟื้นมรดกทางวัฒนธรรมสู่ความยั่งยืน ภายใต้โครงการ 116 วันสร้างสามัคคีด้วยท่าฤษีดัดตนจากวันแม่สู่วันพ่อ เฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวา มหาราช พร้อมเตรียมหารือกระทรวงศึกษาธิการ บรรจุท่าฤาษีดัดตนเป็นท่าวอร์มก่อนเรียนพลศึกษา วันนี้ (3 ธันวาคม 2551) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ณ เรือนพระยาพิษณุประสาทเวช กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดงาน “ราชพฤกษ์รวมใจภักดิ์รักพ่อหลวง” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2551 ณ พื้นที่จัดงานพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 เดิม จังหวัดเชียงใหม่ และเชิญกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเข้าร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เห็นว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ ควรนำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพต่อประชาชนเข้าร่วมนำเสนอตลอดการจัดงาน จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำโครงการ “116 วันสร้างสามัคคีด้วยท่าฤาษีดัดตนจากวันแม่สู่วันพ่อ เฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวา มหาราช” เป็นจังหวัดนำร่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภูมิปัญญาไทย มรดกทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมสุขภาพ การออกกำลังกายแบบไทยซึ่งเข้ากับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนไทย และเป็นการออกกำลังกายที่ประหยัด ส่งผลให้สุขภาพดี ชีวีเป็นสุข อีกทั้งจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวให้ยั่งยืน เผยแพร่สู่สาธารณะในวงกว้าง และเป็นการสร้างสามัคคีตามโครงการ 116 วันสร้างสามัคคีจากวันแม่สู่วันพ่อ ที่สำคัญเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 5 ธันวา มหาราช สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วย การออกกำลังกายแบบไทยท่าฤาษีดัดตน ซึ่งจะจัดเป็นมหกรรมใหญ่ในวันที่ 5 ธันวาคม 2551 เวลา 16.00 น. ณ บริเวณลานพิธีหน้าหอคำหลวง สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ด้วยการรวมพลังภาคีจากชมรมต่างๆ จำนวน 810 คน โดยจังหวัดเชียงใหม่เริ่มตั้งชมรมฤาษีดัดตน ที่สถานีอนามัย 271 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 24 แห่ง แห่งละ 10-25 คน โดยมีอสม. และนักเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดเกิดชมรมฤาษีดัดตนในจังหวัดเชียงใหม่ 300 แห่ง นับเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ที่นำร่องส่งเสริมการออกกำลังกายแบบไทยท่าฤาษีดัดตน โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้สนับสนุนงบประมาณบางส่วนพร้อมสื่อความรู้ เช่น วิซีดีและหนังสือคู่มือ 2,000 ชุด ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมักมีการออกกำลังกายประจำชาติของตน เช่น จีนมีการออกกำลังกายแบบ ชี่กง อินเดียมีโยคะ ประเทศทางตะวันตกมีแอโรบิก ไทยก็มีกายบริหารท่าฤาษีดัดตน ซึ่งตามประวัติมีการปฏิสังขรณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นการปั้นด้วยเนื้อดิน ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์อีกครั้งตามหลักฐานจารึกบนศาลารายวัดโพธิ์จำนวน 80 ท่า หล่อเป็นเนื้อชิน (โลหะสังกะสีผสมดีบุก) และพัฒนาเรื่อยมา รวมประมาณ 127 ท่า ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 สถาบันการแพทย์แผนไทย โดยแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ได้ระดมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เช่น แพทย์หญิงลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพบำบัด แพทย์เชี่ยวชาญด้านกระดูก นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นต้น ร่วมกันคัดเลือกท่ากายบริหารฤาษีดัดตนพื้นฐานจำนวน 15 ท่า จัดพิมพ์เป็นคู่มือแก่ประชาชน โดยท่ากายบริหารฤาษีดัดตนให้ผลด้านกายภาพบำบัด 5 ประการคือ 1.การยึดของกล้ามเนื้อ 2.การออกกำลังกายทั้งแบบเคลื่อนไหวและแบบหยุดนิ่ง 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการหายใจ 4.การยืดหยุ่นผนังของทรวงอก และ 5.การนวด นอกจากประโยชน์ของท่าฤาษีดัดตน จะใช้เป็นท่าในการบริหารร่างกายแล้ว ท่าต่างๆ ที่ใช้ยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย คือ ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของแขนขาข้อต่อต่างๆ เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว มีการเน้นการนวด ในบางท่าจะมีการกดหรือบีบนวดร่วมด้วย ช่วยให้โลหิตหมุนเวียน เลือดลมเดินสะดวก เป็นการต่อต้านโรคภัย บำรุงสุขภาพให้มีอายุยืนยาว ช่วยยกระดับจิตใจให้พ้นอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด ความเครียด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจหากมีการฝึกที่ถูกต้อง จะเห็นว่ากายบริหารแบบไทยฤาษีดัดตนเป็นการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาไทยพื้นบ้านที่ล้ำค่า ช่วยให้คนไทยพึ่งตนเองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง เป็นการปรับโครงสร้างของร่างกายให้เข้าที่ จึงควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะให้มีการบรรจุท่ากายบริหารฤาษีดัดตน ไว้ในชั่วโมงการเรียนวิชาพลศึกษาของนักเรียน เพื่อเป็นท่าวอร์มก่อนฝึกพละ ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงศึกษาธิการในระดับนโยบายต่อไป ********************************* 3 ธันวาคม 2551


   
   


View 12    03/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ