สธ.เดินหน้าจัดทำแผน 5 ปี รับมือภัยสุขภาพ โรคระบาดข้ามแดน กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือภัยสาธารณสุขฉุกเฉินระหว่างประเทศ รองรับแผนพัฒนาด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 - 2555 เน้นการพัฒนาขีดความสามารถไทยด้านการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ การสอบสวนควบคุมโรค การรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมวงเงิน 250 ล้านบาท คาดประกาศใช้ต้นปีหน้า เช้าวันนี้ (12 ธันวาคม 2551) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนางานด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการ 5 ปีของประเทศไทย รับมือโรคระบาดข้ามประเทศ ภัยสุขภาพ และภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 - 2555 ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulations : IHR 2005) ขององค์การอนามัยโลก ที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชากรโลก จากโรคระบาดข้ามประเทศ ภัยสุขภาพ และภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และลดผลกระทบต่อการเดินทาง การขนส่ง และการค้าระหว่างประเทศ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้สมาชิก 193 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย พัฒนาระบบการเฝ้าระวังและวางมาตรการแก้ไขภาวะฉุกเฉินของประเทศ ทั้งจากโรคติดต่อ ภัยจากกัมมันตภาพรังสี สารเคมี และอาหารปนเปื้อนสารอันตราย ตั้งแต่แหล่งต้นเหตุ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย ในการจัดทำแผนดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจาก 18 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 37 คน มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ทั้งนี้ ได้ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นศูนย์ประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ รายงานการระบาดของโรค ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และการดำเนินงานของประเทศต่อองค์การอนามัยโลก ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างทันท่วงที นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ประกอบด้วย มาตรการเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมโรค มาตรการพัฒนาระบบการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ มาตรการตรวจคนเข้าออกประเทศ และมาตรการประสานงานด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ ขณะนี้ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการ วงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศใช้ต้นปี 2552 ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการจะมีการพัฒนา 6 เรื่องสำคัญของไทย ได้แก่ 1. การพัฒนามาตรฐานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว 1,030 ทีม 2. พัฒนามาตรฐานและจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ หรือวอร์รูม ระดับจังหวัด และส่วนกลาง 3. พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ระบบรายงาน และการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย โนโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง 4. พัฒนาการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะมีการจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรคและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป 5. จัดทำระบบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในต่างประเทศให้ประชาชนไทยได้รับทราบอย่างแพร่หลาย เพื่อการเฝ้าระวังในชุมชน และ 6. พัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคในทุกจังหวัด ************************************ 12 ธันวาคม 2551


   
   


View 6    12/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ