กระทรวงสาธารณสุข เร่งควบคุมโรคอุจจาระร่วง 7 โรค ในฤดูหนาว ซึ่งมักเกิดง่ายในกลุ่มของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีรายงานป่วยแล้วกว่า 1 ล้านราย เสียชีวิต 42 ราย โดยให้ทุกจังหวัดเริ่มมาตรการควบคุมป้องกันเข้ม ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปจนถึงฤดูร้อนหน้า นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปีนี้โรคทางเดินอาหารมีแนวโน้มรุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากภาวะโลกร้อน เชื้อเจริญเติบโตได้เร็วขึ้นและมีการปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับคนยังมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง บางกลุ่มยังนิยมกินอาหารดิบ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆเนื่องจากมีความเชื่อว่าเนื้อสัตว์ดิบมีความหวาน อร่อยกว่าเนื้อปรุงสุก นอกจากนี้ยังมีแรงงานย้ายถิ่น ทำให้เชื้อแพร่กระจายง่ายและควบคุมยาก สถานการณ์โรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในปี 2552 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายจะป้องกันและควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยงชัดเจน ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก เด็กนักเรียน และประชาชนทั่วไป ซึ่งกลุ่มหลังนี้ จะมุ่งเน้นไปที่งานบุญ เทศกาลต่าง ๆ ซึ่งประชาชนต้องเดินทางและรับประทานอาหารนอกบ้าน จะให้ทุกจังหวัดเริ่มป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารมีทั้งหมด 7 โรค ได้แก่ โรคอหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์ โรคพาราไทฟอยด์ และโรคไข้เอนเทอริก โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ไปจนถึงจนสิ้นฤดูร้อนประมาณเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ลดลง ทางด้านนายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ต้นปี 2551 จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 พบผู้ป่วยทั้งหมด 1,190,277 ราย เสียชีวิต 42 ราย โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันป่วย 1,074,262 ราย เสียชีวิต 33 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ ในขณะที่อหิวาตกโรคป่วย 230 ราย เสียชีวิต 3 ราย นายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับในช่วงหน้าหนาวนี้ ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ให้ระวังเรื่องอาหารการกินระหว่างทาง ขอให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทยำ ลาบ หลู้ อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคที่มากับเครื่องปรุง ขอให้เลือกซื้ออาหารจากร้านที่สะอาด ในส่วนของการจัดเลี้ยงเป็นหมู่คณะ ซึ่งต้องปรุงอาหารจำนวนมาก ควรเสิร์ฟอาหารหลังปรุงไม่เกิน 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาหารบูดเน่า อันเป็นที่มาของโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งนี้ ในการควบคุมป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร ประเด็นที่มุ่งเน้นหลัก คือความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม ภาชนะที่ใช้ ความสะอาดส่วนบุคคล ได้แก่ การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ คำขวัญจำง่ายๆ คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ในส่วนของระบบการรักษา กรมควบคุมโรคได้จัดอบรมฟื้นฟูความรู้พื้นฐานในการตรวจวินิจฉัยรักษา โรคระบบทางเดินอาหารที่มีความรุนแรงโดยเฉพาะอหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคอาหารเป็นพิษ จังหวัดใดที่พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคแม้เพียงรายเดียว จะต้องทำการควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ************************************ 14 ธันวาคม 2551


   
   


View 6    14/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ