กรมอนามัยแนะสุขอนามัยสำหรับ ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ ให้ถูกใจเหล่าทาส
- กรมอนามัย
- 0 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มอบเข็มกลัดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีน้ำเงินเข้ม (Dark Blue Ribbon) แด่ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนำทีมบุคลากรทางการแพทย์ตั้งหน่วยบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ด้วยวิธี FIT test ส่งเสริมให้บุคลากรรัฐสภาตระหนักถึงการป้องกันและการคัดกรองโรคเนื่องในเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
วันนี้ (14 มีนาคม 2567) ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบเข็มกลัดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีน้ำเงินเข้ม เพื่อรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง แด่ นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ ว่าที่ ร.ต.ท.หญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมมอบเข็มกลัดสัญลักษณ์ของการรณรงค์ฯ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย และมีแนวโน้มอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 16,000 คนต่อปี เป็นเพศชายและหญิงราว 8,658 และ 7,281 คน ตามลำดับ และมีผู้เสียชีวิต 5,332 คนต่อปี ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมูที่ผ่านการแปรรูป หรือปรุงด้วยความร้อนสูงเป็นเวลานานเช่นการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และมีมันสูง รับประทานอาหารกากใยน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า การตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะช่วยให้การรักษาได้ผลดี ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาหายขาดสูง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จึงจัดกิจกรรมเนื่องในเดือนมีนาคมนี้เป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยใช้เข็มกลัดริบบิ้นสีน้ำเงินเข้ม เป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป้องกันและคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ซึ่งจากการดำเนินมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้คนไทยมีความรอบรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและคัดกรองโรคมะเร็งมากขึ้น อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาโรคมะเร็งเพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตของประชาชน จึงได้กำหนดนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริม การป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัยและรักษา การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนมะเร็ง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนการจัดตั้งทีมมะเร็งเชิงรุก Cancer Warrior เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างครบวงจร
นายสันติ พร้อมพัฒน์ กล่าวต่อว่า การจัดงานในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ และรัฐสภา เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรของรัฐสภาได้รับความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ตลอดจนได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test หรือที่เรียกว่า FIT test เป็นวิธีการตรวจที่สะดวก ง่ายและปลอดภัย ประชาชนอายุ 50-70 ปี สามารถรับอุปกรณ์และน้ำยาเก็บตัวอย่างได้ที่สถานพยาบาล เพื่อนำไปเก็บอุจจาระด้วยตนเองที่บ้าน แล้วนำส่งเจ้าหน้าที่เพื่อทำการวิเคราะห์ผล กรณีที่ได้รับผลผิดปกติผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยต่อด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพิ่มเติม ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคลากรของรัฐสภาเป็นอย่างมาก
#มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 14 มีนาคม 2567