รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาการขาดแคลนบุคลากร แพทย์ พยาบาล ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยประเทศไทยยังขาดหมออีก 16,000 คน พยาบาลวิชาชีพ เกือบ 30,000 คน เตรียมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนกำลังคนด้านสาธารณสุข ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด พร้อมสนับสนุนงบประมาณคัดเลือกคนในพื้นที่ ส่งเรียนแพทย์ พยาบาล จบมาทำงานใช้ทุนในจังหวัดตนเอง แก้ปัญหาการขาดแคลนและการกระจายบุคลากร วันนี้ (27 ธันวาคม 2551) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหาการทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนบุคลากร เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นายวิทยา กล่าวว่า การขาดแคลนบุคลากรปัญหาเป็นเรื้อรังที่สำคัญมาก ทั้งการขาดแคลนและการกระจายไม่เหมาะสม จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2550 ทั่วประเทศมีแพทย์ 22,651 คน ยังต้องการอีก 16,000 คน ขณะนี้ แพทย์ 1 คนต้องดูแลประชากร 2,778 คน ขณะที่มาตรฐานกำหนดไว้ที่ 1 ต่อ 1,500 คน โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือแพทย์ทำงานหนักมาก ต้องดูแลประชากร 1 ต่อ 5,308 คน ภาคเหนือดูแล 3,279 คน ภาคใต้ดูแล 3,354 คน ภาคกลางดูแล 2,683 คน ส่วน กทม. ดูแลประชากรเพียง 850 คน ส่งผลให้คนไทยได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางสุขภาพไม่เท่าเทียมกัน ในส่วนของพยาบาล เกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนา ควรมีอัตราส่วนพยาบาลวิชาชีพ 1 คนต่อประชากร 500 คน ซึ่งไทยควรมีพยาบาลวิชาชีพ 125,657 คนแต่ขณะนี้มีเพียง 97,627 คน ยังขาดอีกเกือบ 30,000 คน ทั้งที่ผลิตได้เพิ่มกว่า 4,000 คนต่อปี สาเหตุจากไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ทำให้กว่าร้อยละ 70 เรียนจบแล้วไปอยู่ภาคเอกชน นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้น ได้มอบนโยบายให้หาแนวทางรักษาคนที่มีอยู่ในระบบ ให้มีขวัญกำลังใจ ไม่ลาออก โดยสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน ปรับค่าตอบแทนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่พิเศษ พื้นที่เสี่ยงภัย สนับสนุนให้ลาศึกษาต่อหรือฝึกอบรม เพื่อให้มีความก้าวหน้าตามสายงาน ส่วนระยะยาว จะเร่งประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนกำหนดความต้องการกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งให้สนับสนุนงบประมาณในการผลิตบุคลากรร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อเรียนจบแล้วให้ทำงานในจังหวัดตนเอง ซึ่งจะเป็นการผลิตที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ และช่วยแก้ปัญหาทั้งด้านการขาดแคลนและการกระจายบุคลากร นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละปีมีแพทย์จบใหม่เข้าสู่ระบบประมาณ 1,500 คน แยกเป็นจากมหาวิทยาลัยประมาณ 1,200 คน และจากโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท 300 คน ส่วนโควตาหนึ่งอำเภอหนึ่งแพทย์อยู่ระหว่างการผลิต ขณะเดียวกันมีแพทย์ลาออกจากระบบอยู่ตลอดเวลาปีละประมาณ 700-800 คน สาเหตุจากงานหนัก เงินน้อย โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน 700 แห่งทั่วประเทศ มีแพทย์เพียง 2,900 คน ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่อยู่ระหว่างทำงานใช้ทุน ซึ่งอยู่เพียงปีเดียวก็ขอย้ายหรือลาออก ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามสร้างแรงจูงใจให้กับแพทย์ที่ทำงานในชนบทมาตลอด ทั้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ค่าตอบแทน โดยปัจจุบันแพทย์จบใหม่ได้รับค่าตอบแทนทุกประเภทรวมกันประมาณ เดือนละ 50,000-60,000 บาท มีบ้านพัก และสวัสดิการอื่นๆ ด้วย แต่ก็ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับการทำงานในเมืองหรือโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าตอบแทนสูงมาก สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งเป็น 23 อำเภอ มีประชากรทั้งสิ้น 1,506,997 คน มีสถานบริการในสังกัดฯ ได้แก่ โรงพยาบาลจังหวัด 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 18 แห่ง โรงพยาบาลแม่และเด็ก 1 แห่ง และสถานีอนามัย 251 แห่ง มีแพทย์ทั้งหมด 253 คน เฉลี่ยแพทย์ 1 คนดูแลประชาชน 5,980 คน ทันตแพทย์ 71 คน เฉลี่ย 1คนดูแลประชาชน 21,309 คน เภสัชกร 154 คน เฉลี่ย 1 คน ดูแลประชาชน 9,824 คน พยาบาลวิชาชีพ 1,936 คน เฉลี่ย 1 คนดูแลประชาชน 781 คน ส่วนโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียง ให้บริการระดับตติยภูมิ อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์โรคหัวใจ และเป็นศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก สามารถผลิตแพทย์ร่วมชั้นปีละ 24 คน รับผิดชอบประชากรทั้งจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงเกือบ 2 ล้านคน มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ตึกผู้ป่วยนอกวันละประมาณ 1,700 คน มีแพทย์ปฏิบัติงาน 97 คน ยังขาดอีก 61 คน พยาบาลปฏิบัติงาน 723 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างชั่วคราว 24 คน ขาดอีก 460 คน ******************************** 27 ธันวาคม 2551


   
   


View 6    27/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ