ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน อย่าชะล่าใจโรคพิษสุนัขบ้าในฤดูหนาว หากถูกสุนัขบ้ากัดแล้วไม่ ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน จะมีโอกาสตาย100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2551 นี้พบผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรค แนะหลังถูกสุนัขกัด ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดหลายๆครั้ง และพบแพทย์ อย่ารักษาเองตามความเชื่อผิดๆ เช่นกินตับสุนัขที่กัด การใช้ยาฉุนยัดแผล เป็นอันตรายถึงชีวิต นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าหนาวนี้ สิ่งที่ประชาชนมักมองข้ามเรื่องหนึ่งคือ โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกว่าโรคหมาบ้า โรคหมาหว้อ ซึ่งคนไทยยังเข้าใจกันว่าโรคนี้มักเกิดในฤดูร้อน ซึ่งแท้จริงแล้วโรคนี้พบในฤดูหนาว และเป็นฤดูกาลแพร่โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข เนื่องจากหน้าหนาวของไทยเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูกาลผสมพันธุ์ของสุนัข สุนัขตัวผู้จะต่อสู้เพื่อแย่งชิงสุนัขตัวเมียและปกป้องอาณาเขต หากตัวใดมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อจะถ่ายทอดทางน้ำลายไปสู่ตัวอื่น และนำเชื้อมาสู่คนโดยการกัด ข่วน หรือเลีย หลังรับเชื้อแล้วส่วนมาก คนจะแสดงอาการป่วยประมาณ 4 วัน จนถึง 3-4 ปีก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ปี ฉะนั้นจึงขอเตือนประชาชน อย่าชะล่าใจหลังถูกสุนัขกัด ต้องรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง ใส่ยารักษาแผลสดแล้วไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีน จะป้องกันการเกิดโรคได้ หากหลังถูกกัดแล้วปล่อยไว้จนมีอาการป่วย จะเสียชีวิตทุกราย เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษา จากการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2551 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงขณะนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 5 ราย ที่จังหวัดสระแก้ว เลย หนองบัวลำภู สุรินทร์ และกทม. เสียชีวิตทั้งหมด เนื่องจากไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันหลังถูกกัด สถานการณ์โรคปีนี้ลดลงกว่าปี 2550 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 18 ราย สัตว์ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อมากที่สุด คือสุนัข ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ต่อปีมีผู้ถูกสุนัขกัดและได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เฉลี่ยปีละ 400,000 กว่าราย สุนัขทุกวัยมีโอกาสเป็นโรคนี้ ลูกสุนัขก็เป็นได้ โดยได้รับเชื้อมาจากแม่ขณะเลียปากลูกสุนัข อาการของสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า มีทั้งแบบซึมและแบบดุร้าย โดยชนิดซึม สุนัขจะหลบซุกตัวในมุมมืด ถ้าถูกรบกวน อาจจะกัด บางตัวอาจแสดงอาการคล้ายกระดูกหรือก้างติดคอ ทำให้เจ้าของเข้าใจผิด คิดว่ากระดูกติดคอ พยายามล้วงปากสุนัขเพื่อหาเศษกระดูก ทำให้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่รู้ตัว ส่วนชนิดดุร้ายจะมีอาการทางประสาท กระวนกระวาย หงุดหงิด ดุร้าย กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า ในระยะสุดท้ายสุนัขจะมีขากรรไกรแข็ง ปากอ้า ลิ้นห้อย น้ำลายไหล วิ่งไม่มีจุดหมาย อัมพาต และตายในที่สุด โรคพิษสุนัขบ้าจัดเป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คนที่มีความรุนแรงมาก ผู้ที่มีอาการป่วยจะเสียชีวิตทุกราย อาการของโรคนี้ คือมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คันบริเวณรอยแผลที่ถูกสัตว์กัด อาการคันลามไปที่อื่น ต่อมาจะหงุดหงิด น้ำลายไหลมาก กล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็ง บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง มักป่วยอยู่ประมาณ 2 ถึง 6 วัน และเสียชีวิตเนื่องจากกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาต การป้องกันที่ได้ผลที่สุดล้างแผลให้สะอาดแล้วไปรับการฉีดวัคซีนหลังถูกกัด ทั้งนี้สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากโรคนี้ เนื่องจากมีความเชื่อในการรักษาผิดๆ หลังถูกสุนัขกัด และบอกต่อๆกันมา เช่น เชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะหน้าร้อนเท่านั้น เชื่อว่าเมื่อถูกสุนัขกัด ให้ใช้รองเท้าตบแผล หรือใช้เกลือขี้ผึ้งบาล์ม หรือใช้ยาฉุนยัดในแผล การรดน้ำมนต์หลังถูกสุนัขกัด หรือเชื่อว่า เมื่อถูกสุนัขกัด ให้ฆ่าแล้วนำตับสุนัขมากิน คนก็จะไม่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขกัด จึงไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน นายแพทย์หม่อมหลวงสมชายกล่าวต่อว่า ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนมีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็ม และไม่ต้องฉีดทุกวัน คนท้องที่ถูกสุนัขกัดก็ฉีดได้ โดยการฉีดวัคซีนทันทีที่สัมผัสกับเชื้อโรค และหลังถูกสุนัขกัดขอให้ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ให้สะอาด จะช่วยให้เชื้อโรคต่างๆที่มีอยู่ในน้ำลายสุนัขหลุดไปจากแผลพร้อมกับน้ำสบู่และล้างสบู่ออกให้หมด วิธีการล้างแผลขอให้ล้างให้ลึกถึงก้นแผล จะลดอัตราการเกิดโรคลงได้กว่าร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามการล้างแผลแล้วไปพบแพทย์ เป็นการป้องกันที่ปลายเหตุ วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัข โดยเริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุตั้งแต่ 2 เดือน แล้วฉีดกระตุ้นอีกครั้งใน 2 - 3 เดือนต่อมาและฉีดซ้ำทุกปี และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์ กัด เลีย หรือโดนน้ำลายสัตว์ โดยเฉพาะเด็กๆที่ชอบเล่นกับสุนัข หากโดนกัด ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่หลาย ๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่นทิงเจอร์ไอโอดีน แอลกอฮอล์ แล้วรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว ************************************ 28 ธันวาคม 2551


   
   


View 8    28/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ