กระทรวงสาธารณสุข เสนอของบกลาง กว่า 8 พันล้านบาท ในการพัฒนางานสาธารณสุข 4 โครงการใหญ่ ทั้งการพัฒนาศักยภาพ อสม. ปรับปรุงสถานีอนามัย 2,600 แห่งทั่วประเทศ จ้างแรงงานในท้องถิ่นช่วยงานด้านสาธารณสุข จะนำเข้าที่ประชุมครม.ในวันอังคารที่จะถึงนี้ และเตรียมเจรจาสำนักงาน ก.พ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ พยาบาลลาออก พร้อมทั้งยกฐานะโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ อุบัติเหตุฉุกเฉิน เพิ่มความเชื่อมั่นการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก วันนี้ (11 มกราคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมร.พ.วชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังปัญหาการดำเนินงาน และให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทั่วประเทศรวมทั้งที่จังหวัดภูเก็ตด้วย สาเหตุจากงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย รวมทั้งจากการไม่ได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการ จึงทำให้บุคลากรส่วนหนึ่งไหลเข้าสู่ภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาได้เตรียมหารือกับ สำนักงาน ก.พ. เพื่อขอบรรจุให้เป็นข้าราชการ รวมทั้งได้เตรียมเสนอขอใช้งบกลางของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขวงเงินรวม 8,200 ล้านบาทใน 4 โครงการใหญ่ โดยจะนำเข้าที่ประชุมครม.ในวันอังคารที่จะถึงนี้ นายวิทยากล่าวต่อว่า 4 โครงการใหญ่ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมทั้งจ่ายค่าตอบแทนให้อสม.ทั่วประเทศ เดือนละ 600 บาท วงเงิน 3,700 ล้านบาท ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐบาลแล้ว 2. โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย 2,600 แห่งทั่วประเทศ ให้สะดวกในการให้บริการผู้ป่วยวงเงิน 1,300 ล้านบาท 3.โครงการสร้างบ้านพักแพทย์ พยาบาล ทั่วประเทศวงเงิน 2,600 ล้านบาท และ4.โครงการจ้างแรงงานในท้องถิ่นช่วยงานสาธารณสุข อาทิ เป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ในโรงพยาบาล งานคุ้มครองผู้บริโภค อาหารปลอดภัย การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ดูแลความสะอาดห้องสุขาในโรงพยาบาล วงเงิน 600 ล้านบาท ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อเสียงระดับโลก ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ปีละประมาณ 4-5 ล้านคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดระบบบริการด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่กว่า 1.1 ล้านคน รวมทั้งนักท่องเที่ยวด้วย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ยกฐานะ ร.พ.วชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 500 เตียง มีผู้มารับบริการเฉลี่ยวันละ 2,000 คน ให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ โดยมีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา สามารถเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ อุบัติเหตุและฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นศูนย์แพทย์ศาสตรศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ผ่านมาบริการของร.พ.วชิระภูเก็ตดีเยี่ยมไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชน ประชาชนในพื้นที่พึงพอใจ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็มีความมั่นใจ นิยมเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการ ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยได้ เชื่อมั่นว่าการยกระดับร.พ.วิชิระภูเก็ตครั้งนี้จะสร้างความเชื่อมั่นการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลกได้ ทั้งนี้จุดเด่นของร.พ.วชิระภูเก็ต คือ สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่เกิดโรคจากการดำน้ำ (Decompression illness)หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคน้ำหนีบ และโรคอื่นๆที่สามารถรักษาเสริมด้วยออกซิเจนด้วยระบบความกดดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) ด้วยเครื่องปรับบรรยากาศความกดดันสูงที่เรียกว่าไฮเปอร์แบริก แชมเบอร์ (Hyperbaric Chamber) เช่น แผลกดทับ แผลเบาหวาน การติดเชื้อเรื้อรังของเยื่อหุ้มกระดูก แผลไหม้จากความร้อน และโรคฝีในสมอง เป็นแห่งเดียวของโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัด ซึ่งดูแลทั้งนักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำ ผู้ที่มาปฎิบัติงานใต้น้ำและชาวประมงที่ดำน้ำหาปลานายแพทย์ปราชญ์กล่าว มกราคม 2/9-10 ********************************* 11 มกราคม 2552


   
   


View 7    11/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ