สาธารณสุข เร่งส่งทีมตรวจสอบความผิดทางกฎหมายโรงงานผลิตปลากระป๋องชาวดอย ขณะนี้กำลังดูความผิดทางกฎหมาย หากพบมีความผิดจริงจะดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยประเด็นความผิดฉลากลวงหรือผลิตอาหารปลอม จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท หากเป็นโรงงานรับจ้างผลิต ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการตรวจสอบปลากระป๋องชาวดอย ว่า ได้ส่งทีมงานจากอย.ลงไปตรวจสอบเพิ่มเติม เบื้องต้นทราบว่าโรงงานปิดไปนานแล้ว แต่ยังลักลอบผลิตอาหารกระป๋องออกมาจำหน่าย ได้สั่งการให้ อย. ตรวจสอบสินค้าที่ลักลอบผลิตอย่างเร่งด่วนและดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ได้ส่งทีมงานออกไปตรวจสอบในโกดังเก็บของซึ่งเป็นคนละจุดกับโรงงานที่ขออนุญาต เพิ่มเติมอีก พบอาหารบรรจุในกระป๋องไม่ได้ผนึกฉลากอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้กระป๋อง ผักกระป๋อง ได้อายัดไว้แล้ว ส่วนทางกฎหมายกำลังดูว่ากรณีอย่างนี้จะเข้าข่ายการผลิตอย่างไร เพราะว่ามีการนำเอาอาหารที่บรรจุเสร็จมาติดฉลากภายหลัง และปั๊มวันที่ผลิตล่วงหน้า ซึ่งไม่ระบุแหล่งผลิตที่แน่ชัด ทำให้การตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ทำได้ลำบาก ขณะนี้กำลังดูความผิดทางกฎหมายว่าเข้าข่ายความผิดมาตราใด นายแพทย์พิพัฒน์กล่าวว่า หากตรวจพบว่า เป็นโรงงานรับจ้างผลิตที่ไม่ได้รับอนุญาต จะเข้าข่ายโรงงานผลิตไม่ได้มาตรฐาน ฝ่าฝืนการขออนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผลิตอาหารปลอม หรือติดฉลากลวง จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท สำหรับโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่แจ้งในการขออนุญาตระบุข้างกระป๋อง ปลากระป๋องชาวดอย ได้ตรวจสอบแล้วว่าหยุดการผลิตไปแล้ว เพราะสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครได้ระงับการการต่อใบอนุญาต ขณะนี้โรงงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงการผลิต ส่วนจังหวัดพัทลุงได้ส่งตัวอย่างปลากระป๋องไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ จ.ตรัง ผลเบื้องต้นไม่พบเชื้อแบคทีเรีย แต่กำลังรอตรวจสารโลหะหนักตัวอื่น ๆ ขณะเดียวกันอย.ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องยี่ห้อนี้เพิ่มเติมในล๊อตเดียวกันที่อยู่ในกรุงเทพ ได้ขอความร่วมมือผู้จำหน่ายทุกแห่ง ให้เก็บปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอยลงจากห้างก่อน จนกว่าผลการตรวจสอบจะยุติ ขณะนี้ได้ส่งผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องยี่ห้อนี้ รุ่นนี้ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใหม่เพิ่มเติม คาดจะทราบผลสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ปลากระป๋องเน่ามีหลายปัจจัย คือ กระบวนการผลิตตั้งแต่การเก็บรักษาวัตถุดิบที่เข้ามา การตรวจสอบคุณภาพ โดยกระบวนการทุกขั้นตอนต้องได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ถ้าโรงงานที่ผลิตไม่เข้าข่ายจีเอ็มพี และกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ได้มาตรฐาน อาหารที่ผลิตออกมามีโอกาสไม่มีคุณภาพ ได้ นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าว


   
   


View 6    20/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ