รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ปี 2552 เป็นปีสร้างอนาคตของประเทศไทย เริ่มต้นด้วยหนังสือพระมหาชนกที่เป็นหนังสือเล่มแรกของชีวิต ให้อสม.นำไปให้เด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 10 – 16 มกราคม 2552 กว่า 14,000 คน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้เด็กไทยรุ่นใหม่ และแนะให้พ่อแม่ใช้ 9 เทคนิคเลี้ยงลูกให้มีไอคิวอีคิวสูง วันนี้ (24 มกราคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ไพจิตร วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลหัวไทร โรงพยาบาลชะอวด และโรงพยาบาลเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามการทำงานพร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการให้บริการผู้เจ็บป่วย นายวิทยา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้ปี 2552 นี้ เป็นปีสร้างอนาคตของประเทศไทย ได้ขยายเวลามอบหนังสือพระมหาชนกฉบับการ์ตูน ให้เด็กที่เกิดใหม่ เป็นหนังสือเล่มแรกของชีวิต จากเดิมที่มอบให้เด็กที่เกิดในวันเด็กวันที่ 10 มกราคม 2552 วันเดียว เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจมาก ได้เพิ่มเป็น 7 วัน คือวันที่ 10- 16 มกราคม 2552 คาดว่ามีเด็กเกิดในช่วงวันดังกล่าวจำนวน 14,700 คน ได้ให้แต่ละจังหวัดสำรวจ และส่งรายชื่อและที่อยู่ของเด็กที่เกิดในวันดังกล่าวมาที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งมอบหนังสือเล่มแรกของชีวิต และจะให้ อสม.เยี่ยมบ้าน ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่คนที่ 2 อ่านหนังสือให้เด็กฟังผลัดกับแม่จริงอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง อ่านจนกระทั่งเด็กอ่านหนังสือเป็น แล้วจึงมอบหนังสือให้เด็ก นายวิทยากล่าวต่อว่า เด็กที่ได้ฟังนิทานพระมหาชนกแล้ว จะซึมซับ เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาในแผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก รู้จักเศรษฐกิจพอพียง รู้จักความเพียร และสำนึกคุณแผ่นดิน เปรียบเสมือนเป็นวัคซีนชีวิตให้เด็ก พร้อมทั้ง ให้อสม. ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้ทารกแรกเกิดได้ดื่มนมแม่จนครบ 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้เด็กฉลาดและมีพัฒนาการดี ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กที่ฟังนิทานตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 3 ขวบ จะมีไอคิวอีคิวแตกต่างจากเด็กที่ไม่ได้ฟังนิทาน จากผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตพบว่า เด็กที่มีไอคิวอีคิวหรือความฉลาดทางสมอง และความฉลาดทางอารมณ์สูงๆ เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ 9 ประการ ได้แก่ ร้อยละ 90 ได้รับการกอดจากพ่อแม่และดื่มนมเป็นประจำ ร้อยละ 83 พ่อแม่จัดหาหนังสือตลอดจนสื่อเสริมการเรียนวิชาต่างๆให้ลูก ร้อยละ 82 พ่อแม่มีคำถามให้ลูกคิดอยู่เสมอ ร้อยละ 75 พ่อแม่ให้ออกกำลังกายเป็นประจำ ร้อยละ 72 ให้ลูกเล่นเกมที่ส่งเสริมความคิดและการวางแผน ร้อยละ 71 พ่อแม่จัดหาหนังสือที่มีประโยชน์มาไว้ที่บ้าน ร้อยละ 66 พ่อแม่ชอบเล่นเกมตอบปัญหากับลูกอย่างสม่ำเสมอ และร้อยละ 61 พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกเขียนบันทึกเป็นประจำ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า การเล่นของเด็ก คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็ก หากลูกรู้จักการเล่นตั้งแต่ยังเล็กๆ ประสาทสัมผัสจะได้รับการกระตุ้นต่อเนื่อง เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เซลล์ประสาทสมองเชื่อมประสานมากขึ้นถึงร้อยละ 25 เป็นการพัฒนาความสามารถ สร้างความฉลาดทุกมิติ ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความคิดรวบยอด การแก้ปัญหาและการลองผิดลองถูก ************************************ 24 มกราคม 2552


   
   


View 6    24/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ