กระทรวงสาธารณสุข เผยต่อปีคนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด กว่า 1 ล้านคน ตายเกือบ 1 แสนคน สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการกินไม่ถูกต้องและขาดการออกกำลังกาย จึงได้เร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในระดับชุมชน จัดทำหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด 152 แห่งทั่วประเทศ เฉลิมพระเกียรติ 57 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
บ่ายวันนี้ (6 มีนาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๕๗ พรรษา มหาวชิราลงกรณ หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
นายวิทยา กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพของประชากรโลกรวมทั้งคนไทยขณะนี้ มีแนวโน้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคจากวิถีชีวิตมากขึ้น ทั้งเบาหวาน มะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2548 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้มากถึง 35 ล้านคน หรือร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด หากไม่เร่งแก้ไขคาดว่าในปี 2558 ผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 41 ล้านคน ในส่วนของประเทศไทย สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค รายงานว่าปี 2550 คนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็ง 75,033 คน เสียชีวิต 53,575 คน โรคความดันโลหิตสูงป่วย 446,506 คน เสียชีวิต 2,293 คน โรคหัวใจและหลอดเลือดป่วย 567,825 คน เสียชีวิต 34,833 คน ซึ่งโรคเรื้อรังเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และมีโอกาสเกิดความพิการตามมา ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัวและประเทศชาติ แนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือต้องป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย
นายวิทยา กล่าวต่อว่า โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๕๗ พรรษา มหาวชิราลงกรณ หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุ 57 พรรษา ใน พ.ศ.2552 ดำเนินการใน 75 จังหวัดและกทม. รวม 152 หมู่บ้าน พร้อมทั้งปรับแผนการดำเนินงานสุขภาพในพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แกนนำแต่ละหมู่บ้าน และอสม. ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพรวมทั้งให้มีการปฏิบัติตนการสร้างเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคในชุมชนของตนเอง เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้โรคเรื้อรังเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ พฤติกรรมการกิน ซึ่งจากการสำรวจความรู้และพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกายของคนไทยอายุ 15-60 ปี จำนวน 1,520 ตัวอย่างใน 38 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่าประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องในการกินอาหารและการออกกำลังกาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปปฏิบัติเพื่อให้มีสุขภาพดี มีเพียงร้อยละ 48 ที่กินอาหารอย่างเหมาะสม ร้อยละ 24 กินผัก-ผลไม้สดวันละมากกว่าครึ่งกิโลกรัมเป็นประจำ และร้อยละ 33 มีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ที่น่าเป็นห่วงคือมีประชาชนถึงร้อยละ 14 ที่ชอบกินอาหารไขมันสูง จำพวกขาหมูติดมัน หมูสามชั้นเป็นประจำ ทั้งนี้ การไม่กินผักผลไม้ของประชากรถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่องค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ต้องออกมารณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกบริโภคผักและผลไม้ อย่างน้อยวันละ 400-500 กรัม
ด้านนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า โครงการเฉลิมพระเกียรติ 57 พรรษา มหาวชิราลงกรณ หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเครือข่ายสุขภาพ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนและสื่อมวลชน ขณะนี้หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการจังหวัดละ 2 แห่ง โดยจะเลือกหมู่บ้านในพื้นที่โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว 1 แห่งและหมู่บ้านที่มีปัจจัยเอื้อ คือ มีถนน หรือสถานที่สำหรับออกกำลังกาย มีพื้นที่และแหล่งน้ำ สำหรับปลูกผักปลอดสารพิษกินเองอีก 1 แห่ง การดำเนินงานจะเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 2 พฤติกรรมหลัก คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ อย่างน้อย 3-5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที ร่วมกับการกินผัก-ผลไม้สดวันละอย่างน้อยครึ่งกิโลกรัมขึ้นไปหรือกินผักครึ่งหนึ่งอย่างอื่นครึ่งหนึ่งและลดการกินอาหารไขมัน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานพระราชานุญาตให้โครงการนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์ฯ
*************************** 6 มีนาคม 2552
View 13
06/03/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ