องค์การอนามัยโลก หนุนยารักษาเด็กป่วยวัณโรค ให้ไทย 3,000 รายปีนี้ สาธารณสุข เร่งรัดควบคุมวัณโรคในปี 2552 หวังปลดชื่อเขตวัณโรคชุกออกจากบัญชีโลก ปีนี้พุ่งเป้าค้นหาในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ต้องขัง คนป่วยโรคเบาหวาน ไตวาย โชเฟอร์รถสาธารณะและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่พ่อหรือแม่ป่วยเป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยองค์การอนามัยโลก หนุนยาสำหรับรักษาเด็กป่วยวัณโรคให้ไทยฟรีครั้งแรก 3,000 ราย วันนี้(24 มีนาคม 2552)ที่สถานีขนส่งกรุงเทพ(จตุจักร) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รองผู้ว่ากรุงเทพมหานครฝ่ายสาธารณสุข นายกสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทขนส่ง จำกัด ร่วมกันแถลงข่าว เนื่องใน "วันวัณโรคโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี ปีนี้องค์การอนามัยโลกใช้คำขวัญว่า“ รวมพลัง เร่งรัด หยุดยั้ง วัณโรค” ( I am stopping TB ) เพื่อให้ประเทศสมาชิกร่วมมือควบคุมการแพร่ระบาดวัณโรค โดยในวันนี้ ได้นำรถเอ็กซ์เรย์ปอดเคลื่อนที่ ให้บริการพนักงานขับรถของบริษัทขนส่ง รวมทั้งประชาชนที่สนใจ ฟรีด้วย นายวิทยา กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่าในปี2550 ทั่วโลกพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 9 ล้านกว่ารายใน 202 ประเทศ เสียชีวิตปีละ 2 ล้านราย สำหรับไทยประสบปัญหาวัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งจากสาเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ ความยากจนและการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติ ทำให้ผู้ป่วย วัณโรคเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้คาดว่าไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 91,000 ราย เสียชีวิตปีละ5,000-7,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยดื้อยา 2,843 ราย ในปี 2552นี้ องค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่18 จากทั้งหมด22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก อันดับดีขึ้นโดย ลดลงจากอันดับ 17 เมื่อปี 2551 เนื่องจากความร่วมมือ ทุ่มเทเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยเข้ารับการรักษา นายวิทยา กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาวัณโรคชุก ในปี 2552 นี้ จะเน้นหนักค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในหมู่บ้าน ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่ายังมีผู้ป่วยที่ยังหาตัวไม่พบอีกประมาณร้อยละ 26 มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปยังคนรอบข้างได้ ซึ่งในปี 2551 สามารถค้นหาผู้ป่วยใหม่ได้ 58,000 ราย ครอบคลุมร้อยละ 72-74 โดยหากพบจะให้กินยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือน โดยให้ อสม.และญาติร่วมกันดูแลไม่ให้ขาดยา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากวัณโรคได้ ทั้งนี้กลุ่มที่เสี่ยงติดวัณโรคสูงกว่ากลุ่มอื่นๆได้แก่ กลุ่มผู้ต้องขัง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคไตวาย ในปี 2551 มีการสำรวจวัณโรคในพนักงานขับรถสาธารณะ ผลการตรวจกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ 1,000 คนพบภาพรังสีทรวงอกผิดปกติ 36 คน หรือเกือบร้อยละ 4 จากเดิมพบเพียงร้อยละ 1 รวมทั้งกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ ต้องเอ็กเรย์ดูความผิดปกติที่ปอดและทดสอบทูเบอร์คิวลินด้วย ในไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีลงมา ประมาณ ร้อยละ 5 ของวัณโรคในผู้ใหญ่ หรือประมาณ 3,000 ราย แต่การรายงานผู้ป่วยที่ผ่านมาพบเพียง 400-500 ราย เท่านั้น ทั้งนี้ ในปีนี้ไทยได้รับการสนับสนุนยารักษาวัณโรคในเด็กจากกองทุนยาโลก( Global Drug Facilities:GDF) ขององค์การอนามัยโลกฟรี จำนวน 3,000 ราย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรค สามารถเข้าถึงยาวัณโรคที่ผลิตสำหรับเด็ก ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัณโรคเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปทำลายปอดและอวัยวะอื่นๆและคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ อย่างมาก ทำให้ผอมแห้ง ไมมีแรงทำงาน โดยกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยในผู้ใหญ่ติดเชื้อปอด ส่วนในเด็กพบติดเชื้อที่อวัยวะอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก เด็กมักจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะแพร่กระจายในอากาศ จากการไอ จาม ในห้องที่ทึบอับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ได้นานถึง 6 เดือน เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป บางครั้งเชื้ออาจผ่านจากแม่ไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางรกได้ ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในปี 2552 นี้ จะเน้น 4 ยุทธศาสตร์หลักควบคุมวัณโรค คือ 1.เร่งรัดค้นหาผู้ป่วยที่ยังหลงเหลืออยู่ในกลุ่มพิเศษ ได้แก่ กลุ่มผู้ต้องขัง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวาย เป็นต้น 2.เมื่อพบผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อต้องรับตัวรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ 3.กำหนดผู้รับผิดชอบเรื่องวัณโรค ในโรงพยาบาลทุกแห่ง 4.พัฒนาคุณภาพระบบการกินยาแบบมีพี่เลี้ยง โดยให้ อสม.และญาติช่วยกันกำกับไม่ให้ขาดยา มั่นใจว่าหากสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมผู้ป่วยรายใหม่มากกว่าร้อยละ 90 จะสามารถลบชื่อไทยออกจากประเทศที่มีวัณโรคชุกในโลกได้สำเร็จ สำหรับในวันนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรถนำรถเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่ ให้บริการเอ็กซ์เรย์ปอดให้พนักงานขับรถของบริษัทขนส่ง รวมทั้งประชาชนที่สนใจ จำนวน 1,000 คน ฟรี หากพบปอดผิดปกติจะส่งตรวจเสมหะ และให้การรักษาฟรี ************************************************ 16 มีนาคม 2552


   
   


View 12    16/03/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ