โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือนคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ควรเลี่ยงเปิบตัวดักแด้หนอนไหมหรือตัวต่อทอด เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากผลการตรวจวิเคราะห์พบมีสารก่อภูมิแพ้ “ฮีสตามีน” สูงกว่าค่ามาตรฐานในอาหารกว่า 200 เท่า ปีที่ผ่านมาพบคนมีอาการแพ้หลังกินแมลงทอด 118 ราย แนะแม่ค้าพ่อค้าในการทอดแมลงควรเปลี่ยนน้ำมันทอด และก่อนทอดควรเก็บแมลงไว้ในที่เย็นจัด อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการเกิดสารก่อภูมิแพ้ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้กระแสความนิยมบริโภคแมลงในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ชาวชนบทนิยมนำมาปรุงเป็นกับข้าว ด้วยวิธีทอด ปิ้ง ย่าง คั่ว หมก อ่อม แกง ยำ และตำน้ำพริก แต่ขณะนี้กลายเป็นการบริโภคเป็นอาหารว่าง ปริมาณการบริโภคแมลงทุกชนิด ปีละประมาณ 2 ตัน ซึ่งอาหารประเภทนี้ มีคุณค่าทางโภชนาการ มีประโยชน์ต่อร่างกาย ให้โปรตีนสูง อย่างไรก็ตาม แมลงที่นำมาทอดก็มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารอันตราย เช่น สารกำจัดศัตรูพืช กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบเฝ้าระวัง ติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 24 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 7 มกราคม 2551 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานแมลงทอด เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 118 ราย จาก 7 จังหวัด ประกอบด้วย สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี ชัยนาท และนครราชสีมา ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะรุนแรง พูดไม่ได้ ตัวสั่น เหงื่อออก ใจสั่น บางรายมีอาการชา โดยในจำนวนนี้ 78 ราย หรือร้อยละ 66 จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยรายแรกเกิดขึ้นในจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2550 รายสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 7 มกราคม 2551 อาการเกิดขึ้นหลังรับประทานเฉลี่ย 4 ชั่วโมง อายุเฉลี่ย 33 ปี แมลงทอดที่รับประทานเข้าไปมี 7 ชนิด ได้แก่ ดักแด้หนอนไหม หนอนไม้ไผ่ แมลงดานา ตั๊กแตนแคระ แมลงกระชอน จิ้งโกร่ง และจิ้งหรีด แต่ที่รับประทานมากเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 90 คือ ดักแด้หนอนไหมทอด รองลงมาคือ ตั้กแตนทอด ร้อยละ 14 โดยมีแหล่งรับซื้อแมลงมาจากตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยผู้ป่วยทุกรายอาการหายอย่างรวดเร็ว หลังจากที่แพทย์ให้การรักษาด้วยยาแก้แพ้และสารน้ำเกลือแร่และน้ำเกลือ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการตัวอย่างดักแด้หนอนไหม แมลงทั้งที่ทอดแล้วและยังไม่ทอด น้ำมันใช้ทอดแมลง ใบเตย และอาเจียนของผู้ป่วย ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปรากฏว่าไม่พบสารพิษอันตรายตกค้างใดๆ แต่ตรวจพบสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ ตกค้างอยู่ พบมากที่สุดในดักแด้หนอนไหมทอด เก็บจาก จ.สุราษฎร์ธานี ตรวจพบ 875 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ปริมาณฮีสตามีนในอาหารกำหนดระดับสูงสุดของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดอาหาร มีได้ตั้งแต่ 100-200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ของไทยกำหนดให้มีได้น้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า อาการแสดงหลังได้รับสารฮีสตามีน จะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินเข้าไป แต่ในกลุ่มที่มีประวัติภูมิแพ้หรือหอบหืด จะตอบสนองได้เร็วกว่ากลุ่มบุคคลอื่น ควรหลีกเลียงกินดักแด้หนอนไหมและหนอนของตัวต่อ ซึ่งอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงขั้นเสียชีวิตได้ ทางด้านนายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ โฆษกกรมกควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสอบสวนเส้นทางของแมลงทอดที่มีรายงานผู้ป่วย 7 จังหวัด พบว่ารับดักแด้หนอนไหมมาจากแหล่งเดียวกันคือ ตลาดโรงเกลือ ทั้งนี้คนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นิยมกินแมลงทอด และมีการป่วยอยู่เนืองๆ แต่ไม่ทราบสาเหตุ เช่นในปี 2549 มีรายงานข่าวชาวเวียดนามประมาณ 150 คน ป่วยหลังกินหนอนไหม มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียและมีผื่นคัน ซึ่งอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชาหรือคันที่บริเวณริมปาก หน้า มักสรุปว่าเกิดจากการแพ้ หรือเกิดจากยาฆ่าแมลงที่ตกค้าง แท้จริงแล้วอาจเกิดจากสารฮีสตามีน ซึ่งในไทยเริ่มมีรายงานการแพ้ชนิดนี้ในปี 2550 ในกลุ่มที่ทำงานในโรงงานปลากระป๋องที่สมุทรปราการ ซึ่งนำปลาทูน่ามาทิ้งในอุณหภูมิห้อง ก่อนจะนำมาทำเป็นอาหาร โดยอาหารจำพวกปลาจะมีสารฮีสตามีน เมื่ออยู่ในอุณหภูมิระหว่าง 5-60 องศาเซลเซียส แบคทีเรียจะเปลี่ยนฮีสตาดีน(Histadine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนเป็นฮีสตามีน และพบในแมลงเกือบทุกชนิดที่คนไทยกิน แต่พบมากในหนอนตัวต่อ มี 5,221 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และพบในดักแด้หนอนไหม 5,197 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยความร้อนไม่สามารถทำลายสารฮีสตามีนได้ นายแพทย์คำนวณ กล่าวต่อว่า ผลการตรวจสอบพฤติกรรมการทอดแมลงของแม่ค้าที่จังหวัดสระแก้ว พบว่าแม่ค้าจะใช้นำมันทอดชุดเดียวต่อวัน ใช้เวลาทอดประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง โดยจะเริ่มทอดเขียด แมลงดา แมลงกระชอน แมงเมี่ยง จิ้งหรีด และทอดดักแด้ลำดับสุดท้าย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความมัน จะกลบกลิ่นแมลงชนิดอื่น ดังนั้นดักแด้จึงมีโอกาสสะสมปริมาณสารพิษที่ไม่ถูกทำลายด้วยความร้อนและละลายในไขมัน ที่ตกค้างจากแมลงชนิดอื่น นอกจากนี้มูลเหตุของการก่อให้เกิดสารฮีสตามีนในแมลงทอด อาจเกิดมาจากกระบวนการเก็บรักษาและขนส่ง โดยอาจมีการปนเปื้อนแบคทีเรียในปริมาณสูง มีระบบความเย็นที่ไม่ดีพอ และแมลงตกค้างอยู่ในจังหวัดต่างๆ หลายสัปดาห์ ก่อนมาถึงแม้ค้ารายย่อยๆ ก็ได้ ดังนั้นการเก็บรักษาแมลงก่อนทอดให้ได้มาตรฐาน ควรเก็บในระบบความเย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4.4 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถยับยั้งขบวนการเกิดสารฮีสตามีนได้ นายแพทย์คำนวณ กล่าวต่ออีกว่า ในการเลือกตัวหนอนไหมก่อนทอด หากมีตัวที่ไม่สมบูรณ์ หรือสีเปลี่ยนจากปกติ คือสีเหลืองทอง หรือมีกลิ่นเปรี้ยว ไม่ควรนำมาทอด ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยาได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะที่ห้องฉุกเฉิน และสถานีอนามัยทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ บ้านหมุน และให้ประวัติว่ากินแมลงทอดหรือดักแด้ ให้รีบแจ้งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้รีบดำเนินการควบคุมโรคต่อไป ******************************************* 21 มีนาคม 2552


   
   


View 14    21/03/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ