รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำประชาชนไทยอย่าตกใจ เรื่องพบสารก่อมะเร็งในก๊าซโซฮอล์ ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยการเกิดมะเร็งในคน จึงขอให้ประชาชนใช้ก๊าซโซฮอล์ได้ตามปกติ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งให้กรมควบคุมโรคศึกษาผลกระทบแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 5 ปีขึ้นไป หากพบว่าส่งผลต่อสุขภาพจริง จะหามาตรการป้องกันต่อไป
วันนี้ (30 มีนาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวใช้ก๊าซโซฮอล์แล้วส่งผลให้เป็นมะเร็ง ว่า ตัวเลขที่ออกมานั้นเป็นการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษเท่านั้น ไม่มีการศึกษาจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเข้าไปทำการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา เนื่องจากโรคมะเร็งไม่สามารถตรวจสอบได้ทันที การก่อโรคใช้ระยะเวลานาน
นายวิทยา กล่าวต่อว่า เนื่องจากการใช้ก๊าซโซฮอล์เป็นเรื่องการรณรงค์การใช้พลังงานจากพืช ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นของประเทศไทย จึงต้องทำการตรวจสอบและศึกษาถึงผลกระทบ หากพบว่าส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งจริง ก็จะวางมาตรการป้องกันต่อไป จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก สามารถใช้ก๊าซโซฮอล์ต่อไปได้ จนกว่าจะทำการศึกษาเป็นที่เรียบร้อย
ทางด้านนายแพทย์พนมพันธ์ ศิริวัฒนานุกูล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ก๊าซโซฮอล์มีการใช้กันทั่วโลก จึงไม่อยากให้ประชาชนไทยตื่นตระหนกข่าวนี้จนเกินไป ขอให้รอผลการศึกษาวิจัยก่อน โดยในการศึกษาผลกระทบด้านการเกิดโรคมะเร็งนั้น คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 5 ปีขึ้นไป โดยจะศึกษาที่เม็ดเลือด ตับและไต เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ผลการวิจัยว่าสารกลุ่มคาร์บอนิล เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ อะซีโตน อะโครรีน อะเซทัลดีไฮด์ ทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
ทั้งนี้ ตามปกติตัวของก๊าซโซฮอล์ไม่มีก๊าซกลุ่มคาร์บอนิล แต่กระบวนการเผาไหม้ก่อให้เกิดสารตัวนี้ได้ และหากพบว่าก่อให้เกิดมะเร็งในคนได้จริง ก็มีวิธีการป้องกัน เช่น ติดตั้งเครื่องกรองที่ท่อไอเสียรถยนต์ หรือใช้พลังงานทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัย เช่น อาจเปลี่ยนไปใช้กลุ่มไฮโดรเจนแทน ซึ่งเมื่อเผาไหม้แล้วจะเกิดเป็นน้ำและออกซิเจน ไม่มีสารพิษตกค้างในอากาศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คำตอบประชาชนในระยะเวลาอันสั้น ควรมีการศึกษาวิจัยต่อยอดการเผาไหม้ของ ก๊าซโซฮอล์ขึ้นไปอีก โดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ เพื่อทราบปริมาณของสารเคมีที่ปลดปล่อยจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ถูกต้อง และควรศึกษาการแปรรูปของสารเคมี ที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการเผาไหม้ดังกล่าว ในบรรยากาศอีกครั้งหนึ่ง
***************************** 30 มีนาคม 2552
View 10
30/03/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ