กระทรวงสาธารณสุข พร้อมกระจายแพทย์ ทันตแพทย์ป้ายแดงลงประจำการสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 1,483 คน ชี้การได้กำลังคนป้ายแดงทั้ง 2 สายงานนี้ทดแทนส่วนที่ขาดแคลนแนวโน้มลดลง มีแพทย์ร้อยละ 15 ลาออกขณะยังใช้ทุนไม่ครบ รอบ 5 ปีมานี้มีแพทย์ ทันตแพทย์ในสังกัดลาออกจากราชการ 5,000 กว่าคน หนุนนโยบายรักษากำลังคนไว้ในระบบ ให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในสายงาน ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น
บ่ายวันนี้ ( 1 เมษายน 2552 ) ที่โรงแรมสีดารีสอร์ท อ.เมือง จ.นครนายก นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมปฐมนิเทศ แพทย์ ทันตแพทย์ ที่สำเร็จการศึกษาประจำปี 2552 และทำสัญญาชดใช้ทุนกับกระทรวงสาธารณสุข ก่อนลงไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 1,483 คน ประกอบด้วยแพทย์ 1,089 คน ทันตแพทย์ 394 คน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ข้าราชการใหม่ทั้ง 2 สายงานดังกล่าว ให้มีความรู้และเข้าใจภาระงาน
นายมานิตกล่าวว่า แพทย์ ทันตแพทย์เป็นตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับเกียรติให้ดูแลประชาชน เชื่อว่าทุกคน มั่นใจว่าแพทย์ ทันตแพทย์จบใหม่ปีนี้ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพที่มีเกียรติ ตามที่เรียนมา พร้อมให้บริการดูแลประชาชนด้วยความเสียสละ เพื่อประโยชน์ของประชาชน เติมเต็มบุคลากรในระบบ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังขาดแคลนบุคลากรสาย แพทย์ ทันตแพทย์ อีกจำนวนมาก
ที่ผ่านมาสถานพยาบาลของรัฐต้องประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรมาโดยตลอด โดยเฉพาะท้องถิ่นที่ทุรกันดาร สาเหตุจากงานหนัก เงินน้อย โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน 700 แห่งทั่วประเทศ มีแพทย์ 3,363 คน ทันตแพทย์ 1,712 คน ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ที่อยู่ระหว่างทำงานใช้ทุน ซึ่งอยู่เพียงปีเดียวก็ขอย้ายหรือลาออก โดยในแต่ละปีจะมีแพทย์และทันตแพทย์ขอลาออกประมาณ 800-900 คน ในปี 2551 ปีเดียว มีแพทย์และทันตแพทย์ลาออก 910 คน ขณะที่สามารถผลิตแพทย์และทันตแพทย์ทดแทนได้ประมาณปีละ 1,500 คน หักลบแล้วจะได้คนเพิ่มในระบบปีละประมาณ 600 คนเท่านั้น
จากสถิติตั้งแต่ปี 2546-2551 มีแพทย์ขอลาออก 4,302 คน ทันตแพทย์ลาออก 1,016 คน ทำให้ปัจจุบันมีแพทย์ในระบบ 10,466 คน หรือมีเพียงร้อยละ 83 จากที่ควรจะมี 12,677 คน ยังขาดอีก 2,211 คน ส่วนทันตแพทย์มี 2,872 คน หรือร้อยละ 43 จากจำนวนที่ควรจะมี 6,639 คน ยังขาดอีก 3,767 คน โดยแพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชาชน 4,000- 5,000 คน
นายมานิตกล่าวต่อว่า เพื่อรักษากำลังคนภาครัฐที่มีอยู่ ให้อยู่ในระบบ มีขวัญกำลังใจ ไม่ลาออก ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อแพทย์ทำงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลครบ 3 ปี ประมาณร้อยละ 35 ลาออกจากราชการ อีกร้อยละ 15 ทำงานใช้ทุนไม่ครบ 3 ปีก็ลาออก ในระยะสั้นนั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน ปรับค่าตอบแทนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่พิเศษ พื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งมีโอกาสลาศึกษาต่อหรือฝึกอบรมเพิ่มเติม เพื่อให้ก้าวหน้าตามสายงาน ส่วนระยะยาว จะเร่งประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนผลิตกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด และเมื่อเรียนจบแล้วให้ทำงานในจังหวัดตนเอง ซึ่งจะเป็นการผลิตที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ และช่วยแก้ปัญหาทั้งด้านการขาดแคลนและการกระจายบุคลากร
*********************************** 1 เมษายน 2552
View 22
01/04/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ