กระทรวงสาธารณสุข สั่งโรงพยาบาลในสังกัดและระดมทีมกู้ชีพฉุกเฉินกว่า 70,000 คน ทั่วประเทศ รับมืออุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 10-16 เมษายน เต็มที่ พร้อมส่งอสม.กว่า 9 แสนคน ร่วมจุดตรวจสกัดกั้นพฤติกรรมเสี่ยงในหมู่บ้าน แนะเดินทางปลอดภัยด้วยหลัก 6 ต้อง 2 ควร ชี้ปีที่ผ่านมาพบเด็กต่ำกว่า 15 ปี บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงขึ้น โดย 1 ใน 6 มีการดื่มสุราร่วมด้วย อายุต่ำสุดที่ดื่มเพียง 10 ปีเท่านั้น วันนี้ (8 เมษายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว “สงกรานต์นี้ ปลอดเหล้า ปลอดภัย” เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2552 นายวิทยา กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2552 ซึ่งมีวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วัน กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น ใน 3 เรื่องหลักคือ การรณรงค์สื่อสารให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุและในสถานพยาบาล เพื่อลดความพิการและเสียชีวิต และการเฝ้าระวังการบาดเจ็บโดยโรงพยาบาลซึ่งเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ และได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งเตรียมพร้อมบริการ 2 เรื่องใหญ่ คือ การตั้งรับดูแลรักษาผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาล ให้เตรียมทีมแพทย์พยาบาล โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด และไอซียู สำรองยา เลือด วัสดุการแพทย์จำเป็น และเตียงว่างเพิ่มอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง บริการที่ 2 คือ การเตรียมทีมออกไปให้การช่วยเหลือที่จุดเกิดเหตุ มีระบบการแจ้งขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 โดยมีกำลังทีมกู้ชีพฉุกเฉินทุกระดับทั่วประเทศ 72,560 คน รวมกว่า 6,000 ทีม ตั้งแต่การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่มีอาการสาหัส จนถึงการบาดเจ็บที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งจะปฏิบัติงานร่วมกับมูลนิธิ/อาสาสมัครกู้ภัยต่างๆ ที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐานและเป็นหน่วยบริการร่วม หลังได้รับแจ้งเหตุภายใน 10 นาที เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 10 -16 เมษายน 2552 ทั้งนี้ได้มอบให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโรงพยาบาลเอกชน จัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์สำหรับขนส่งผู้บาดเจ็บกรณีจำเป็นเร่งด่วนด้วย “ขณะนี้การบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการบาดเจ็บและตายจากทุกสาเหตุ โดยแต่ละปีมีคนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 13,000 คน หรือชั่วโมงละ 1.5 คน บาดเจ็บกว่า 950,000 คน หรือชั่วโมงละกว่า 100 คน และในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน สถิติการตายจากอุบัติเหตุทางถนนจะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่าตัว โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มักมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ทำให้ยิ่งมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงขึ้น” นายวิทยากล่าว ด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ล่าสุดปี 2551 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 4,243 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 4,803 ราย ตาย 368 ราย โดยวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บและตายสูงสุด พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากสุดร้อยละ 80 คือ รถจักรยานยนต์ สาเหตุจากเมาสุรา ร้อยละ 41 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 23 ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดและสภาพรถไม่ปลอดภัย ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน ที่สำคัญพบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์และได้รับบาดเจ็บสูงขึ้น ทั้งที่กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ขับขี่ได้ ยิ่งกว่านั้นยังพบว่า1 ใน 6 ของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บมีการดื่มสุราด้วย อายุต่ำสุดเพียง 10 ปี เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก นายมานิต กล่าวต่อว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ทีมกู้ชีพฉุกเฉินออกให้บริการทั้งหมด 18,514 ครั้ง แยกเป็น อุบัติเหตุจราจร 7,736 ครั้ง เจ็บป่วยฉุกเฉิน 8,617 ครั้ง และถูกทำร้าย 1,220 ครั้ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากเหตุใดก็ตาม ประชาชนสามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ทุกเทศกาลที่ผ่านมาพบว่ามักจะมีโทรศัพท์ก่อกวนสายด่วน 1669 จำนวนมาก จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนละเว้นการกระทำดังกล่าวด้วย เพราะทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเสียโอกาสได้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายให้อสม. กว่า 9 แสนคน ออกปฏิบัติงานร่วมกับจุดตรวจในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อสกัดกั้นพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อค ขับขี่ไม่ปลอดภัย รวมทั้งเฝ้าระวังการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามขายเหล้าในสถานที่และเวลาห้ามขายของร้านค้าในชุมชน โดยกรมควบคุมโรคจะจัดทีมออกสุ่มสำรวจด้วย ทั้งนี้ ผู้พบเห็นการกระทำผิดเรื่องการขายเหล้า สามารถแจ้งได้ที่ โทร. 0-2590-3342 สำหรับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จะมีการเก็บสถิติผู้บาดเจ็บและตาย รายงานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกวัน และกรณีเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ จะส่งทีมออกไปสอบสวนยังที่เกิดเหตุ เพื่อเป็นข้อมูลประเมินสถานการณ์ และปรับแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมต่อไป ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการเดินทางช่วงเทศกาลให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ขอให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกคนยึดหลัก 6 ต้อง 2 ควร ได้แก่ ต้องเตรียมพร้อมสภาพร่างกายและจิตใจ โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน ทำจิตใจให้แจ่มใส มีสมาธิ ไม่เครียด ต้องเตรียมสภาพรถให้พร้อมทุกระบบ ต้องวางแผนการเดินทาง ศึกษาเส้นทาง สภาพการจราจร สภาพถนน สิ่งแวดล้อมและดินฟ้าอากาศ ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง ควรจอดรถหยุดพักในที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ป้อมตำรวจทางหลวง เป็นระยะ ทุก 2 ชั่วโมง หรือทุก 150 กิโลเมตร เพื่อคลายความอ่อนล้าของร่างกาย หากรู้สึกง่วงอย่าฝืนขับรถเป็นอันขาด เพราะอาจหลับในและเกิดอุบัติเหตุได้ ควรดูแลกวดขันบุตรหลานไม่ให้ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือ ผู้ที่จะขับขี่ยานพาหนะทุกต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพื่อให้ “สงกรานต์นี้ ปลอดเหล้า ปลอดภัย” ***********************************8 เมษายน 2552


   
   


View 7    08/04/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ