กระทรวงสาธารณสุข แถลงยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายม็อบเช้ามืดวันนี้ เบื้องต้น ณ เวลา 08 .30 น.รวม 66 ราย อาการสาหัส 3 ราย นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 4 แห่ง ส่วนใหญ่โดนแก็สน้ำตา โดนยิง และสะเก็ดระเบิด ไม่มีเสียชีวิต หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 20 ทีม นำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี 8 ราย โรงพยาบาลรามาธิบดี 24 ราย โรงพยาบาลพระมงกุฎ 2 ราย และโรงพยาบาลทหารผ่านศึก 30 ราย ทุกรายได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่โดยไม่แบ่งแยกฝ่ายใดๆทั้งสิ้น มาตรฐานเดียวกัน เช้าวันนี้ (13 เมษายน 2552) เวลา 9.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ แถลงข่าวจำนวนผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายม็อบเมื่อเช้ามืดวันนี้ (13 เมษายน 2552) ว่า หน่วยแพทย์กู้ชีพจากศูนย์เอราวัณ ร.พ.รามาธิบดี ร.พ.พระนครศรีอยุธยา ร.พ.ชลประทาน ร.พ.ปทุมธานี ร.พ.ราชวิถี ร.พ.เลิดสินประมาณ 20 ทีม ได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ณ เวลา 8.30 น. มีทั้งหมด 66 ราย ส่วนมากโดนแก็สน้ำตา โดนยิง และสะเก็ดระเบิด นำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 แห่ง โดยนอนรักษาตัวทั้งหมด 11 ราย ในโรงพยาบาล 4 แห่ง โดยผู้บาดเจ็บทั้งหมดได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลต่างๆดังนี้ 1. โรงพยาบาลราชวิถี 8 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 1 ราย ในจำนวนนี้รับตัวไว้นอนโรงพยาบาล 4 ราย โดยมีอาการสาหัส 1 ราย กำลังทำผ่าตัด 1 ราย 2. โรงพยาบาลรามาธิบดี 24 ราย เป็นชาย 22 ราย หญิง 2 ราย โดยมีผู้บาดเจ็บสาหัส ต้องรับตัวไวัรักษาในโรงพยาบาล 2 ราย จากบาดแผลที่ข้อเข่า 1 ราย บาดแผลที่คอแขนและขาจากสะเก็ดระเบิด 1 ราย ที่เหลืออีก 22 ราย เป็นบาดแผลเล็กน้อยตามแขนขา 8 ราย และระคายเคืองตา ผิวหนังจากแก็สน้ำตา 14 ราย 3. โรงพยาบาลพระมงกุฎ 2 ราย นอนรักษา 1 ราย 4. โรงพยาบาลทหารผ่านศึก 32 ราย โดยแพทย์กำลังผ่าตัดผู้ที่ถูกยิงจำนวน 4 รายแพทย์รับตัวนอนโรงพยาบาลทั้งหมด นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ในวันนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมคณะกรรมการวอร์รูม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะยึดที่ 3 หลักการใหญ่คือ ให้การดูแลผู้บาดเจ็บทุกรายอย่างดีที่สุด โดยไม่แบ่งแยกฝ่ายและดีที่สุด การดูแลเยียวยาด้านจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบและความพร้อมของหน่วยแพทย์พยาบาล ทั้งทีมฉุกเฉินและทีมให้การรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือผู้ชุมนุมให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลทุกแห่ง อย่านำสิ่งกีดขวางทางเข้าออกโรงพยาบาล 12 ในกทม. ที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมนุม เช่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร.พ.ทหารผ่านศึก ร.พ.รามาธิบดี ร.พ.พญาไท ร.พ.เดชา ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ร.พ.ราชวิถี ร.พ.สงฆ์ ร.พ.เด็ก ร.พ.พระมงกุฎ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันประสาทวิทยา ร.พ.มิชชั่น และร.พ.อื่นๆ เมื่อมีผู้ป่วยขอให้เปิดทาง เพื่อความสะดวกในการ ดูแลผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยคลอดบุตร ผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบ/แตก ผู้บาดเจ็บ ให้ได้รับความปลอดภัยและรวดเร็ว ทั้งนี้ได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการรับมือจุดเสี่ยงและล่อแหลม และเมื่อมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ประชาชนสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์กูชีพได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด24 ชั่วโมง ทางด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ จากสถานการณ์นี้ มี 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ชุมชุมนุมและ ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 3. สื่อมวลชนที่อยู่ในสถานการณ์โดยหน้าที่ 4 . ประชาชนที่สนใจทางการเมืองและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งหมดนี้จะมีผลทางปฏิกิริยาทางจิตใจ คือความเครียด ที่มากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองทางด้านจิตทางด้านอารมณ์และจิตใจ ให้ดูแลเด็กและผู้สูงอายุให้อยู่ในสถานที่ปลอดภัย และใช้โอกาสของเทศกาลสงกรานต์ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิตของครอบครัวตามประเพณีที่ดีของไทย สำหรับประชาชนที่มีความวิตกกังวลกับเหตุการณ์ ขอให้ยึดหลักปฎิบัติง่ายๆ 4 ข้อดังนี้ แตกต่างไม่แตกแยก ตรองแต่อย่าตรม ติดตามแต่ไม่ติดใจ และตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตูม โดยดูแลทั้งตัวเองและคนใกล้ชิด ก็จะสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ไปด้วยกันได้ นายแพทย์ชาตรีกล่าว


   
   


View 7    13/04/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ