ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี วอนผู้ชุมนุมอย่าเสี่ยงภัยกับแก๊สหุงต้มเป็นเครื่องมือต่อรอง ชี้อานุภาพสูง หากอยู่ใกล้จุดระเบิดจะเสียชีวิต หรือทำลายอวัยวะภายในได้ ความลึกของแผลจะมากกว่าชั้นผิวหนัง ลงไปทุกส่วนของเนื้อเยื่อในร่างกาย ผู้ป่วยต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยความทุกข์ทรมาน และใช้เวลานาน หากอยู่ไกล ทำให้แก้วหูทะลุ ผิวหนังไหม้ได้เช่นกัน วันนี้ (13 เมษายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงวารุณี จินารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และนายแพทย์ประจักษ์วิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าวสื่อมวลชนเกี่ยวกับภัยของแก๊สหุงต้ม ที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาใช้ปิดถนน ซึ่งยืนยันว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้ทางวิชาการ ไม่ได้มุ่งให้ประชาชนเกิดความตระหนก แต่เพื่อให้ทุกคนได้ตื่นตัวและมีสติในการป้องกันภัยอันตรายจากแก๊สระเบิดได้ แก๊สที่ว่านี้เรียกว่า แก๊สแอลพีจี นำมาใช้เป็นแก๊สหุงต้ม จัดเป็นแก๊สไวไฟ มีลักษณะเป็นของเหลว เมื่อเกิดการเผาไหม้และขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นการระเบิดของแก๊ส ภาชนะบรรจุก็จะกระเด็นด้วยแรงระเบิด ถ้าเป็นกระป๋องสเปรย์รัศมีพุ่งได้ประมาณ 10-15 เมตร สำหรับถังแก๊สขนาด 15 ลบ.ม. สามารถพุ่งออกไปได้ภายในรัศมีประมาณ 300-600 เมตร มีส่วนประกอบหลักคือกลุ่มไฮโดรคาร์บอน ประกอบด้วยแก๊สโปรเปน (Propane) และบิวเทน ( Butane ) มีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศประมาณ 1.5 - 2 เท่า ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษ จึงต้องเติมกลิ่นเหม็น (Ethyl Mercaptan ) ลงไปเพื่อให้รู้ว่าแก๊สรั่ว แก็สดังกล่าวอาจทำให้ติดไฟได้และขยายตัวเมื่ออุณหภูมิสูง จะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นไอ สามารถขยายตัวประมาณ 250 เท่า แพทย์หญิงวารุณี กล่าวว่า การใช้แก๊สเป็นเรื่องน่ากลัว หากแก๊สในถังระเบิดออกมาในอากาศ โอกาสหนีรอดน้อยมากหากอยู่ใกล้กับจุดระเบิด เพราะจะมีแรงดันที่เป็นพลังเมื่อเปรียบเทียบแรงระเบิดของก๊าซ สามารถทำลายอวัยวะภายในได้ และหากอยู่ไกลจากจุดระเบิด แรงดันก๊าซจะน้อยลง ทำให้แก้วหูทะลุหรือทำให้ผิวหนังไหม้จากเปลวไฟได้ แก๊สมี 2 สถานะ คือในรูปของของเหลวที่ยังไม่ติดไฟ กรณีเกิดเหตุการณ์แก๊สรั่ว จะไหลลงที่ต่ำเหมือนน้ำ หากสัมผัสจะก่อให้เกิดการระคายเคืองทุกตำแหน่ง การป้องกันให้อยู่เหนือลม และหากมีประกายไฟแก็สจะลุกติดไฟ และฟุ้งกระจายอย่างรวดเร็ว โดยมีความร้อนสูงมากถึง 1,930 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถหลอมแก้ว หลอมโลหะได้ ดังนั้นหากถูกผิวหนังจะไหม้ลึกมาก การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกผิวหนังหรือแก๊สเข้าตา จะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อน ให้ชำระล้างให้เร็วที่สุด ห้ามใช้น้ำร้อนล้างเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น เพราะความลึกของแผลจะมากกว่าชั้นผิวหนัง ลงไปทุกส่วนของเนื้อเยื่อในร่างกาย ผู้ป่วยต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยความทุกข์ทรมาน และใช้เวลาในการรักษานานมาก ในการเตรียมความพร้อมรับมือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกเปลวแก๊สระเบิด โรงพยาบาลในเขตกทม.ที่มีหน่วยดูแลเฉพาะผู้ป่วยบาดแผลไฟไหม้โดยเฉพาะมี 5 แห่ง ได้แก่ ร.พ.ศิริราช ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ร.พ.พระมงกุฎ ร.พ.นพรัตนราชธานี และร.พ.กรุงเทพ ซึ่งการดูแลจะต้องอยู่ในห้องแยกปลอดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ขณะนี้ได้ประสานเตรียมความพร้อมไว้ทุกแห่งแล้ว......... เมษายน 3/4 ****************** 13 เมษายน 2552


   
   


View 8    13/04/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ