สาธารณสุข เผยการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ละปีมีเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 1,500 คนเฉลี่ยวันละ 4 คน โดยพบอายุ 5-9 ปีมากที่สุด ซึ่งมากกว่าการตายจากโรคไอกรน หัด คอตีบ อหิวาตกโรค ไข้เลือดออกและไทฟอยด์รวมกัน และพบเด็กไทยจำนวน 13 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นเพียง 2 ล้านคนหรือร้อยละ 16.7 นำร่องให้วัคซีนป้องกันเด็กจมน้ำ 4 จังหวัด ตั้งเป้าอีก 10 ปี เด็กอายุครบ 7 ปี ต้องว่ายน้ำเป็น วันนี้ (29 เมษายน 2552) ที่สระว่ายน้ำกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว การเปิดโครงการทดลองหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก(WHO) พัฒนาวัคซีนป้องกันการจมน้ำในเด็กขึ้นมา โดยจะใช้เวลาเรียน 15 ครั้ง ๆละ 1 ชั่วโมง สำหรับเด็กอายุ 4-7 ปี โดยมีสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ เป็นครูฝึกสอน หลักสูตรนี้มุ่งเน้นให้เด็กมีทักษะในการเอาชีวิตรอดเมื่อในน้ำ และการช่วยเหลือคนตกน้ำเบื้องต้นที่ถูกวิธี ซึ่งเด็กที่ผ่านหลักสูตรนี้จะสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้นานนับชั่วโมง นายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้การจมน้ำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วโลกเสียชีวิตปีละ 230,000 คน มีจำนวนมากกว่าเด็กที่ตายจากโรคไอกรน โรคหัด โรคคอตีบ โรคอหิวาตกโรค โรคไข้เลือดออกและโรคไทฟอยด์รวมกัน ซึ่งมีไม่ถึงปีละ 200,000 คน และเป็นสาเหตุอันดับแรกของการเสียชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงเป็นอันดับ 1 ปีละประมาณ 1,500 คน เฉลี่ยวันละ 4 คน โดยพบเด็กไทยอายุ 5-9 ปีเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด ในเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงปิดเทอม มีเด็กจมน้ำตาย 112 คน จากการสำรวจในเด็กไทยที่มีกว่า 13 ล้านคน พบว่าว่ายน้ำเป็นเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อลดและป้องกันปัญหาการจมน้ำตาย นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำโครงการนำร่อง โดยจะให้วัคซีนป้องกันการจมน้ำในเด็กใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ราชบุรี เพชรบูรณ์ สุรินทร์ และนครศรีธรรมราช เนื่องจากทั้ง 4 จังหวัดแต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุดในแต่ละภาค คือ สุรินทร์ 45 ราย ราชบุรี 33 ราย เพชรบูรณ์ 29 ราย และนครศรีธรรมราช 19 ราย โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานกับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อคัดเลือกโรงเรียน เรียนว่ายน้ำกับครูผู้สอนที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว โดยตั้งเป้าหมายภายในอีก 10 ปีข้างหน้า เด็กที่อายุครบ 7 ปี จะได้รับวัคซีนคือว่ายน้ำเป็นครบทุกคน คาดว่าจะสามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กได้ปีละอย่างน้อย 100 คน ทางด้านแพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดนี้ สามารถนำมาใช้กับระบบการศึกษาในโรงเรียนได้ มี 3 หน่วยการเรียนได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอดและพื้นฐานการว่ายน้ำและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ซึ่งหากทดลองแล้วหลักสูตรนี้ทำให้เด็กเกิดทักษะในการเอาชีวิตรอดและมีทักษะช่วยชีวิตคนจมน้ำในระดับดี กระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการด้วย ******************************************* 29 เมษายน 2552


   
   


View 8    29/04/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ