กระทรวงสาธารณสุข จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการตามแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติ พ.ศ. 2550-2554 เน้นการป้องกันโรคในเด็กเกิดใหม่ ลงทุนตรวจเลือดหาความผิดปกติเพียงไม่ถึง 50 บาท เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วย เป้าหมายลดผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคชนิดรุนแรงได้ไม่น้อยกว่า 6,000 รายใน 5 ปี ช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลตลอดอายุขัยได้กว่า 42,000 ล้านบาท บ่ายวันนี้ (30 เมษายน 2552) ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กทม. นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวกับ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงสุดสาคร ตู้จินดา ประธานมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย คุณสายพิณ พหลโยธิน ประธานชมรมผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย และผู้แทนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในวันธาลัสซีเมียโลก ปี 2552 ซึ่งปีนี้กำหนดคำขวัญว่า “คุณภาพชีวิตผู้ป่วยธาลัสซีเมีย กาย ใจ สังคม” นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ธาสัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ไทยมีประชากรที่เป็นพาหะโรคนี้ประมาณร้อยละ 30-40 ซึ่งคนกลุ่มนี้มีรูปร่างหน้าตาปกติ ร่างกายแข็งแรง แต่พร้อมจะถ่ายทอดความผิดปกติให้ลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียได้ ส่วนผู้ป่วยธาลัสซีเมีย พบร้อยละ 1 ของประชากร หรือประมาณ 6 แสน 3 หมื่นคน และแต่ละปีมีคู่สมรสเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคชนิดรุนแรง 17,012 คู่ ในจำนวนนี้มีโอกาสคลอดลูกเป็นโรคชนิดรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตลอดชีวิตปีละ 4,253 ราย คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษารายละ 6.6 ล้านบาท นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียในคู่สมรส พบมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 48.28 บาทเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมป้องกันและควบคุมโรค โดยจัดให้บริการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าตรวจ ตั้งแต่ปี 2550 พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติ พ.ศ. 2550-2554 ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาระบบป้องกันและควบคุมโรคให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้มีลูกปลอดจากโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ขณะนี้มีโรงพยาบาลให้บริการค้นหาคู่สมรสที่มีความเสี่ยงแล้ว 827 แห่ง การให้ความรู้ในโรงเรียน และการตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมีย 2.พัฒนาระบบการรักษาพยาบาลให้ได้มาตรฐาน 3.พัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัย สามารถตรวจได้ครบทุกขั้นตอนและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ 4.วิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรค และ 5.การควบคุม กำกับ ประเมินผล เพื่อสร้างความรู้ในการพัฒนางาน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ตามแผนงานดังกล่าว คาดว่าจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงได้ถึงร้อยละ 50 ในปี 2554 หรือลดได้ไม่น้อยกว่า 6,370 คน ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่า 42,042 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยต่างๆ มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียฯ สมาคมโลหิตวิทยาฯ ซึ่งจะทำให้ระบบการป้องกันควบคุมโรคดังกล่าวของประเทศมีความเข้มแข็ง สามารถลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ให้น้อยลงและหมดไปในที่สุด เมษายน7/3 ********************************** 30 เมษายน 2552


   
   


View 12    30/04/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ