ที่ประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสอาเซียน บวก 3 ได้ข้อสรุปร่วมมือหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เน้นมาตรการเข้ม 3 เรื่อง ได้แก่ การเฝ้าระวัง การควบคุมโรค และการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วหากมีผู้ป่วย โดยมิให้กระทบต่อการเดินทาง ค้าขาย และวิถีชีวิต ด้านผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกชี้ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุทิศทางการปรับเพิ่มหรือลดระดับความรุนแรงของการระบาดได้
บ่ายวันนี้ (7 พฤษภาคม 2552) ที่ห้องนภาลัย บอลล์รูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ทูมัส พาลู หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ฝ่ายความร่วมมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก (Dr.Toomus Palu, Lead Health Specialist, Human Development Sector Coordinator, World Bank) แถลงผลการประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสประเทศสมาชิกอาเซียน บวก 3 ว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 พบการระบาดส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาและบางประเทศของยุโรป และมีพื้นที่ที่พบการระบาดใหม่ 2 แห่ง คือ กัวเตมาลา และสวีเดน ในภูมิภาคเอเชียมี 3 พื้นที่ คือ อิสราเอล ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ที่พบผู้ป่วย มีพื้นที่ที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในรอบ 7 วัน ได้แก่ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์
ในวันนี้ได้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบดาวเทียมร่วมกับแพทย์หญิงแอนนี่ ชูชัท (Dr. Anne Schuchat) ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา และนายแพทย์เคอิจิ ฟูกูดะ (Dr. Keiji Fukuda) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น ทุกประเทศให้ความสนใจ ได้มีการสอบถามประเด็นเกี่ยวกับเชื้อไวรัส รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาด
โดยนายแพทย์เคอิจิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุทิศทางในการปรับเพิ่มหรือลดระดับความรุนแรงของการระบาดจากระดับ 5 ได้ สิ่งสำคัญคือ ทุกประเทศต้องร่วมกันเข้มงวดในเรื่องของการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วย อาจต้องมีมาตรการในการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพกว่าการคัดกรองที่ประเทศปลายทาง
แพทย์หญิงศิริพร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวังควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 ตามประกาศความรุนแรงการระบาดระดับ 5 ขององค์การอนามัยโลก โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการเดินทาง การค้าขาย และวิถีชีวิตประชากร ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ มาตรการเฝ้าระวังโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว มาตรการการควบคุมโรคกรณีที่พบผู้ป่วย เพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดให้ได้เร็วและแคบที่สุด และมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ในภูมิภาคอาเซียนมีสต็อคยาโอเซลทามิเวียร์อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ 5 ล้านเม็ด ส่วนไทยได้เตรียมไว้ในประเทศ 5 ล้านเม็ดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพัฒนาวัคซีนสำหรับใช้ในภูมิภาค
แพทย์หญิงศิริพร กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ทั้งจากศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก ระบุว่าเชื้อไวรัสนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยทางด้านพันธุกรรม ลักษณะการแพร่เชื้อ และด้านคลินิก เพื่อลดผลกระทบต่อคน โดยการให้การรักษาอย่างรวดเร็วและควบคุมอย่างทันการณ์ รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยงต่อประชาชน ยังมีความจำเป็นและต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งจากการนำเสนอมาตรการของประเทศอาเซียน และจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ในวันนี้ ล้วนยึดหลักเตรียมพร้อมการเฝ้าระวังป้องกันตามมาตรฐานสากล และบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ยังได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร โต้ตอบกระแสข่าวลือเกี่ยวกับโรคนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือกันในระดับอาเซียน บวก 3 ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชากรของอาเซียนและประชากรโลก
****************************************************** 7 พฤษภาคม 2552
View 17
07/05/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ