รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน บวก 3 ประกาศความร่วมมือรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ตอกย้ำเครือข่ายที่เข้มแข็ง 4 มาตรการหลัก ทั้งการเปิดสายด่วนแลกเปลี่ยนข่าวสารการระบาด การสร้างทีมสอบสวนโรคระหว่างประเทศ การตรวจวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ และการศึกษาวิจัยเชื้อเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคและการรักษา การผลิตยาและวัคซีน พร้อมเสนอองค์การอนามัยโลกเรื่องการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม เที่ยงวันนี้ (8 พฤษภาคม 2552) ที่โรงแรมดุสิตธานี กทม. นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ (H.E. Dr. Surin Pitsuwan) เลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วย นายแพทย์ฟรานซิสโก ที. ดูเก้ ที่ 3 (H.E. Dr. Francisco T. Duque Ⅲ) รัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน บวก 3 นายเปยิน ดาโต๊ะ สุยอย ออสมาน (H.E. Pehin Dato Suyoi Osman) รัฐมนตรีสาธารณสุขบรูไน นายแพทย์มัม บันเฮียง (H.E. Dr. Mam Bunheng) รัฐมนตรีสาธารณสุขกัมพูชา นายสุปารี สิติ ฟาดิลาห์ (H.E. Supari Siti Fadilah) รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซีย นายแพทย์ปอนเมฆ ดาลาลอย (H.E. Dr. Ponmek Dalaloy) รัฐมนตรีสาธารณสุขลาว ดาโต๊ะ สรี เตียง ไลเลียว (H.E. Dato’ Sri Tiong Lai Liow) รัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย นายแพทย์บาลาจิ สาดาสิวัน (H.E. Dr. Balaji Sadasivan) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ นายเตรีย ง็อก เหงียน (H.E. Trieu Quoc Nguyen) รัฐมนตรีสาธารณสุขเวียดนาม นายวิทยา แก้วภราดัย (H.E. Mr. Witthaya Keawparadai) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉิน จู (H.E. Dr. Chen Zhu) รัฐมนตรีสาธารณสุขจีน นายแพทย์ทาคาโอะ วาตานาเบ้ (Dr. Takao Watanabe) รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น และนายแพทย์ลี ดุกยอง (Dr. Lee Dukhyoung) ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านนโยบายควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการและครอบครัว เกาหลีใต้ ร่วมกันแถลงผลการประชุมเพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 ในภูมิภาคอาเซียน การประชุมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 เป็นโรคระบาดที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชากรในภูมิภาค ที่มีรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ซึ่งทุกประเทศต้องมีการตื่นตัว และมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งจะเสริมความเข้มแข็งในการควบคุมการระบาด ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศต่างมุ่งเน้นในเรื่องการให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การใช้หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ การล้างมือ การจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ซึ่งจะช่วยลดการบาดของโรคนี้ได้อย่างดี สำหรับมาตรการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อจากการเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หากพบผู้เดินทางที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจต้องให้ชะลอการเดินทาง และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตามหลักมาตรฐานสากล โดยที่ประชุมมีมติให้แต่ละประเทศดำเนินมาตรการที่จะควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ใน 6 เรื่อง ดังนี้ 1.จัดเตรียมแผนระดับชาติเพื่อควบคุมเฝ้าระวังการติดต่อระหว่างคนสู่คน และในสัตว์ 2.ปฏิบัติตามมาตรการของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบการเฝ้าระวังที่รวดเร็วและตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ 3.จัดซ้อมแผนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสื่อสาร เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก และผลกระทบทางสังคม 4.จัดระบบตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางออกนอกประเทศในพื้นที่ที่พบการติดเชื้อ รวมทั้งตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศ โดยใช้คำว่า “พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ” แทนคำว่า “ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ” เพื่อลดผลกระทบการท่องเที่ยวและการค้า 5.ร่วมกันจัดตั้งระบบคลังยา เวชภัณฑ์ที่จำเป็นของภูมิภาคอาเซียน บวก 3 ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยขณะนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ 6.จัดระบบการเข้าถึงยาต้านไวรัส รวมทั้งยาที่จำเป็น เวชภัณฑ์ต่างๆ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ซึ่งจะทำให้ระบบการดูแลรักษามีประสิทธิภาพ สำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค 13 ประเทศ ได้มีมติร่วมมือกันใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การเปิดสายด่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การระบาดระหว่างประเทศ เพื่อการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2.จัดตั้งทีมสอบสวนควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วระหว่างประเทศ สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประเทศข้างเคียงได้ทันที หากมีการร้องขอ 3.การตรวจวินิจฉัยเพื่อการยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 4.การศึกษาวิจัยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ทางด้านสารพันธุกรรม อาการป่วย ระบบการดูแลรักษา เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการรับมือโรคระบาดใหม่ เช่นเดียวกับโครงการเฝ้าระวังโรคประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โครงการศูนย์ความร่วมมือวิจัยโรคติดเชื้อกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะทำให้ระบบการสาธารณสุขที่จะดูแลความปลอดภัยทางสุขภาพของประชากรในภูมิภาคมีความยั่งยืนและเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังได้มีข้อเสนอให้องค์การอนามัยโลกจัดประชุมเรื่องการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีของการผลิตวัคซีนในระดับภูมิภาค เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเสมอภาค ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 62 ในวันที่18-22 พฤษภาคม 2552 นี้ และขอให้องค์กรนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ สนับสนุนด้านการเงินในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสำรองคลังยา เวชภัณฑ์ต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน *************************************** 8 พฤษภาคม 2552


   
   


View 12    08/05/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ