ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 62 ที่สวิสเซอร์แลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย กล่าวถ้อยแถลงหัวข้อสุขภาพต่อผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ชูระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยว่ารองรับและดูดซับผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนไทยอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจได้ดี พร้อมทั้งเผยความสำเร็จ 3 ยุทธศาสตร์ สู้ภัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 พบมาถูกทาง ตลอดเวลาเกือบ 1 เดือน ยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศ ได้รับเสียงปรบมือชื่นชมจากผู้นำด้านสุขภาพจาก 192 ประเทศทั่วโลกอย่างกึกก้อง
เช้าวันนี้ (18 พฤษภาคม 2552 )เวลา 8.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อเรื่องสุขภาพต่อผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly)สมัยที่ 62 ณ ที่ประชุมสหประชาชาติประจำกรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2552 มีผู้แทนรัฐบาลทั้งด้านบริหารและวิชาการของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 193 ประเทศเข้าร่วมประชุม 2,000 คน เพื่อกำหนดนโยบายสุขภาพรวมในระดับโลก
นายวิทยากล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้มีวิกฤติสำคัญที่มีผลต่อระบบสุขภาพ 2 เรื่องใหญ่คือวิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองสุขภาพคนไทยจากวิกฤติครั้งนี้ โดยเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประสบผลสำเร็จมาก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่ามีส่วนอย่างมากในการรองรับดูดซับผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนไทยจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ได้อย่างดี แม้ว่างบประมาณประเทศโดยรวมในปี 2553 จะถูกปรับลดไปถึงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปี 2552 แต่รัฐบาลไทยได้เพิ่มงบประมาณในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นร้อยละ 9. 3 และคงงบประมาณจัดซื้อยาต้านไวรัสดูแลรักษาโรคเอดส์ การล้างไต และยังได้วางระบบให้ประชาชนที่ตกงานหรือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง และสูญเสียสิทธิประกันสังคม สามารถใช้สิทธิในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ต่อเนื่องโดยอัตโนมัติได้ด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้ลงทุนโครงการโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมสุขภาพดีให้ประชาชน ลดการเจ็บป่วยอย่างยั่งยืน โดยดึงพลังอสม.ที่มีเกือบ 1 ล้านคน เป็นแกนหลักในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน อาทิการเยี่ยมหญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ คนพิการ
สำหรับการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ประเทศไทยได้ใช้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่1. การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนก แต่ให้ตระหนักในการดูสุขภาพ ป้องกันโรค 2. การเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยให้ได้รับการรักษารวดเร็วและควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายอย่างทันท่วงที โดยใช้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ร่วมกับอสม. และ 3. การเตรียมพร้อมด้านรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อใช้ในกิจกรรมดังกล่าว ผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาถูกทาง ได้ผลดี จนถึงขณะนี้เกือบ 1 เดือน ไทยพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เพียง 2 ราย ซึ่งติดเชื้อมาจากต่างประเทศ รักษาหายขาดแล้ว ยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศแต่อย่างใด
พร้อมกันนี้ นายวิทยายังได้กล่าวถึงความสำเร็จของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน บวก 3 วาระพิเศษว่าด้วยเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ฯ เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เพื่อยกระดับความร่วมมือในการป้องกันโรคดังกล่าวในระดับภูมิภาค
โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศฟิลิปปินส์เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในแถลงการณ์ร่วมในการดำเนินการทุกระดับทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อรับมือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งการหาทางขยายคลังสำรองยาต้านไวรัสและเวชภัณฑ์อื่นๆที่จำเป็น และยังได้เรียกร้องให้ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก สนับสนุนให้ประเทศต่างๆเข้าถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้อย่างเท่าเทียม และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้มากขึ้นทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 3 และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆด้วย ซึ่งการกล่าวของไทยครั้งนี้ ได้รับเสียงปรบมือชื่นชมจากผู้เข้าร่วมประชุมดังกึกก้องไปทั่วห้องประชุม
********************* 18 พฤษภาคม 2552
View 3
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ