กระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่รณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ต้นตอโรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อ ซึ่งปีนี้พบการระบาดครั้งใหญ่ในพื้นที่แถบภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปีมานี้พบผู้ป่วยแล้ว 18,435 ราย พร้อมให้ อสม. ผู้นำชุมชน ช่วยค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิกเอกชน แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมื่อพบผู้ป่วยที่เป็นไข้ มีผื่น และปวดข้อ
วันนี้ (18 พฤษภาคม 2552) ที่ศาลาประชาคม อ.สะเดา จ.สงขลา นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนางประนอม จันทรภักดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรคและคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อของพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และเป็นประธานปล่อยตัวชุดปฏิบัติการควบคุมโรค ประกอบด้วยอาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนอ.สะเดาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กว่า 100 คน ร่วมกันกวาดล้างแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายตัวแก่ พาหะนำโรคชิคุนกุนยา
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคชิคุนกุนยาในปีนี้นับว่ามีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 12 พฤษภาคม 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 18,435 ราย เกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือสงขลา 7,310 ราย รองลงมาได้แก่ นราธิวาส 6,450 ราย ปัตตานี 2,942 ราย ยะลา 1,539 ราย ตรัง 95 ราย สตูล 57 ราย และพัทลุง 12 ราย นอกจากนี้ ยังเริ่มพบผู้ป่วยในภาคใต้ตอนบนที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราชด้วย
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดในภาคใต้เร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่ โดยระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนรณรงค์ทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning Day) กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชน การพ่นเคมีภัณฑ์กำจัดยุงลายตัวแก่ต้นเหตุโรคชิคุนกุนยา รวมทั้งเร่งให้ความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นเตือนประชาชน ในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทั้งโรคชิคุนกุนยาและไข้เลือดออก นอกจากนี้ ยังให้อสม. ผู้นำชุมชน ช่วยค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิกเอกชน เมื่อพบผู้ป่วยเป็นไข้ มีผื่นและปวดข้อ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อลงควบคุมป้องกันโรคอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมยาและเวชภัณฑ์ไว้พร้อมสำหรับดูแลผู้ป่วย
ด้านนายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มความเข้มข้นของการเฝ้าระวังป้องกันโรคชิคุนกุนยาควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอเอช 1เอ็น1 โดยการประชุมทางไกลผ่านระบบดาวเทียมร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต 11 และ 12 ทุกวัน เพื่อติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานทุกวัน และให้ประสานการทำงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่
ทั้งนี้ ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ จะประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง จาก 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อวางแผนการดำเนินงานควบคุมการระบาดของโรคชิคุนกุนยาในภาคใต้ ที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
สำหรับโรคชิคุนกุนยา มียุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค หลังได้รับเชื้อ 3-5 วัน จะมีอาการไข้ มีผื่นแดงตามลำตัว แขน ขา และมีอาการปวด บวมแดง ร้อน บริเวณข้อ โดยเฉพาะข้อนิ้ว ข้อมือ และข้อเข่า บางรายอาจปวดจนเดินไม่ได้ การรักษาจะรักษาตามอาการ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ในช่วง 3-5 วันแรกต้องระวังไม่ให้ยุงกัด เพราะจะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรคและสงสัยเป็นโรคชิคุนกุนยา ให้รีบไปรักษา และแจ้งอสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อลงไปควบคุมโรคทันที โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดคือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้านและบริเวณรอบบ้าน และป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งหรือห้องที่ติดมุ้งลวด ใช้ยาทากันยุง สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องออกไปทำสวน
พฤษภาคม6/5-6 **************************************18 พฤษภาคม 2552
View 10
18/05/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ