องค์การอนามัยโลกหนุนงบ 70 ล้านบาท ให้ไทยวิจัยผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จากเชื้อเป็นซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้จากรัสเซียเป็นครั้งแรก ใช้เวลาพัฒนาในโครงการ 1 ปี โดยใช้สถานที่มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม สิ้นสุดเดือนเมษายนปีหน้า เพื่อเตรียมการขึ้นทะเบียน โดยไทยจะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลใช้เองในประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้า ในโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และปรับการผลิตหากมีการระบาดใหญ่ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นชนิดใช้พ่นทางจมูกได้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านโดส หากมีเหตุฉุกเฉินของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาดในอนาคต จะใช้สถานที่โครงการนำร่องผลิตเพื่อรับมือ
วันนี้ (20 พฤษภาคม 2552) เวลา 13.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ที่องค์การสหประชาชาติ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน (Dr. Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือระหว่าง นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายไทย กับ ดร.แมรี่ พอล คีนีย์ (Dr. Marie Paule Kieny) ผู้อำนวยการด้านการวิจัยวัคซีน (Director, Initiative Vaccine Research) และ ดร.เดซี่ มาฟูบีลู (Dr. Daisy Mafubelu) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (Assistant Director-General, WHO) ผู้แทนองค์การอนามัยโลก เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมสามารถใช้สายพันธุ์เชื้อเป็น และข้อมูลในการพัฒนาการวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากบริษัทโนบีลอน (Nobilon-Schering-Plough) ที่ได้รับจากประเทศรัสเซีย ซึ่งมอบให้องค์การอนามัยโลกเมื่อ 15 มกราคม 2552 เพื่อทำประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นครั้งแรก โดยสามารถผลิตได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น
นายวิทยา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับองค์การอนามัยโลกครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะได้อาวุธสำคัญในการต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ทำให้ระบบการสาธารณสุขของไทย มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยสามารถผลิตวัคซีนขึ้นใช้ได้เองในประเทศ และผลิตให้องค์การอนามัยโลกนำไปช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ นี้ แม้ว่าอัตราตายจะต่ำคือร้อยละ 0.86 แต่ติดต่อกันระหว่างคนสู่คนง่าย จึงแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วข้ามไปยังประเทศในภูมิภาคต่างๆ ที่ผ่านมาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ยุโรปและอเมริกาเหนือ จึงต้องมีการเตรียมการผลิตวัคซีนในแถบเอเชียด้วย โดยไทยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70 ล้านบาท เป็นปีที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 สิ้นสุดโครงการวันที่ 30 เมษายน 2553 เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น หลังจากที่ได้ผลิตวัคซีนตัวอย่างชนิดเชื้อตายของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีแรกแล้ว เป็นโอกาสดีที่จะผลิตสายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่กำลังระบาด ด้วยเทคโนโลยีชนิดเชื้อเป็นในประเทศได้คราวละจำนวนมาก และเป็นความหวังที่จะสามารถรับมือได้ทัน หากโรคนี้เกิดการระบาดอีกในอนาคต
ทางด้านนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในการวิจัยเพื่อการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้เชื้อเป็นที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงมาผลิตวัคซีน (live-attenuated influenza vaccine : LAIV) มาดำเนินการที่ห้องปฏิบัติการซึ่งมีความปลอดภัยในระดับห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล
นายแพทย์วิทิต กล่าวต่อว่า เพื่อเตรียมรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 องค์การเภสัชกรรมได้ตัดสินใจปรับโครงการผลิตวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุน เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ด้วย การดำเนินการโครงการต่อเนื่องนี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนจากเชื้อเป็นได้ถึง 2-3 ล้านโดสต่อเดือน ในกรณีที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ฉุกเฉิน ถึงแม้ว่าจำนวนการผลิตดังกล่าวอาจไม่พอเพียงต่อประชาชนชาวไทย แต่จะเพียงพอสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ให้บริการต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาในระดับอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,400 ล้านบาท (ประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้องค์การเภสัชกรรมก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามมาตรฐานจีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลก ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อเป็นการประกันความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทยในระยะยาวต่อการระบาดของไข้หวัดใหญ่ จะเริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายน 2552 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน คาดจะเริ่มผลิตได้ในปี 2555 กำลังการผลิตรองรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ปีละกว่า 60 ล้านโดส และผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปีละ 10 ล้านโดส เพื่อให้คนไทยได้ใช้ และเตรียมสำรองให้องค์การอนามัยโลกในการสนับสนุนไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ทางด้านแพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การเกิดโรคระบาดไข้หวัดใหญ่ แสดงถึงความต้องการในการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของโลก ทุกประเทศมีความเสี่ยงทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่เข้าร่วมผลิตวัคซีนนำร่องในประเทศกำลังพัฒนา และไทยเป็นประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้ามากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้ประกาศที่จะบริจาควัคซีนให้กับคลังวัคซีนโลก ซึ่งที่ผ่านมาหลายประเทศมีการเตรียมตัวรับมือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มาอย่างดี เนื่องจากเป็นผลมาจากการเตรียมรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดนก และการเตรียมรับมือการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังป้องกันมีความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและร่วมมือกันอย่างแข็งขัน องค์การอนามัยโลกพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนทุกประเทศได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน
******************************** 20 พฤษภาคม 2552
View 15
20/05/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ