กระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนาระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพดีประชาชนให้เข้มแข็ง ชี้ในปี 2550 คนไทยป่วยเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเกือบ 36 ล้านคน เฉลี่ยป่วยคนละเกือบ 3 ครั้งต่อปี เร่งยกระดับสถานีอนามัย 2,000 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ลดปัญหาเจ็บป่วย เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เป็นต้นไป เผยต่อไปนี้ประชาชน จะได้รับบริการใกล้บ้าน มีระบบส่งรักษาต่อคล่องตัวขึ้น
วันนี้(28 พฤษภาคม 2552)ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จังหวัดเพชรบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าสถานีอนามัย ในจังหวัดภาคกลางรวมกว่า 500 คน เพื่อชี้แจงนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รสต.)และระบบการส่งต่อผู้ป่วย
นายวิทยา กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางของกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยเรื้อรัง ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบการบริการ และสร้างความเข้มแข็งในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพดีประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยยกระดับสถานีอนามัย ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการทั้งการรักษาพยาบาล และการสร้างสุขภาพดี ลดจำนวนคนป่วยให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งลดปัญหาแทรกซ้อนในผู้ที่ป่วยแล้วไม่ให้กำเริบรุนแรง รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายการส่งผู้ป่วยรักษาต่อ ให้คล่องตัวขึ้น ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เพียงพอด้วย ซึ่งขณะนี้สถานีอนามัยมีเจ้าหน้าที่บริการน้อย เฉลี่ยแห่งละประมาณ 3 คนเท่านั้น
ทั้งนี้ ในปี 2550 พบว่าประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลทุกระดับจำนวน เกือบ 36 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีกว่า 62 ล้านคน ป่วยโดยเฉลี่ยคนละ 2.75 ครั้งต่อปี ต้องเข้าๆออกๆโรงพยาบาลมากถึง 116 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เกือบ 17 ล้านคน
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในปี 2552 -2553 นี้ จะเริ่มดำเนินการในสถานีอนามัยจำนวน 2,000 แห่ง กระจายทุกจังหวัดและทุกอำเภอที่มีความพร้อมจากทั้งหมด 9,810 แห่ง นอกจากนี้จะเร่งเพิ่มบุคลากรจากที่มีเฉลี่ยแห่งละ 3 คนเป็นแห่งละ 6- 12 คน แบ่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่ ขนาดเล็ก มีเจ้าหน้าที่ 5 คน ดูแลประชากรไม่เกิน 3,000 คน ขนาดกลางมีเจ้าหน้าที่ 7 คน ดูแลประชาชนไม่เกิน 6,000 คน และขนาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ 9-10 คนดูแลประชาชน มากกว่า 6,000 คน
ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร เช่น ต่อเติมชั้นล่างเป็นห้องตรวจรักษา มีเตียงสังเกตอาการผู้เจ็บป่วย มีระบบการสื่อสารกับโรงพยาบาลแม่ข่าย มีรถออกเยี่ยมบ้าน เพิ่มพยาบาลเวชปฏิบัติทำหน้าที่ตรวจรักษาโรคพื้นฐาน อย่างน้อย 1 คน ให้บริการครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล รวมทั้งระบบส่งต่อกรณีเกินขีดความสามารถ มีบริการให้คำปรึกษาทางไกล ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับโรงพยาบาล เชื่อมั่นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ในการพัฒนาครั้งนี้เป็นอันมาก โดยจะให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย
..................................... 28 พฤษภาคม 2552
View 13
28/05/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ