วันนี้ (31 พฤษภาคม 2552) เวลา 15.00 น.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จ ณ ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ทรงกดปุ่มเปิดงาน วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2552 โดยมีนาย มานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเฝ้ารับเสด็จ นายมานิต ได้กราบทูลรายงานว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก และขอความร่วมมือประเทศต่างๆ ทั่วโลก ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตปีละกว่า 5 ล้านคน รวมทั้งขอให้ผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 1,300 ล้านคน ให้หยุดสูบบุหรี่ในวันนี้ โดยกำหนดคำขวัญรณรงค์ ว่า “บุหรี่มีพิษ ร่วมคิดเตือนภัย” (Tobacco Health Warnings) เพื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้ พร้อมเตือนภัยเกี่ยวกับพิษภัย รวมถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ สร้างค่านิยมใหม่แก่เด็กและเยาวชน ไม่ให้สูบบุหรี่ เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของบริษัทบุหรี่ ทดแทนลูกค้าเก่าที่เริ่มเจ็บป่วยจนต้องเลิกสูบและทยอยเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากบุหรี่ที่มีกว่า 25 โรค เนื่องจากบุหรี่มีสารประกอบ ต่างๆประมาณ 4,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด ในส่วนของประเทศไทย มีคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ทั้งสูบเองและบุหรี่มือสอง ปีละกว่า 40,000 คน โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด จะมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละเกือบ 20,000 คน บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตของคนไทยรองจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 ในกลุ่มคนไทยอายุ 15 ขึ้นไปซึ่งมีจำนวน 51 ล้านกว่าคน พบว่า สูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน หรือร้อยละ 21 ของประชากร โดยสูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน 9.4 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปี 2535 ที่มีผู้สูบประจำเกือบ 12 ล้านคน มีผู้สูบนานๆครั้ง 1.3 ล้านคน ผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง 22 เท่าตัว สูบเฉลี่ยวันละ 10.3 มวน ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาล ผู้สูบ 1 ใน 5 กลุ่มอยู่วัยทำงานอายุ 25-59 ปี รองลงมือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สูบร้อยละ 17 ส่วนกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปีสูบร้อยละ 12 โดยอายุเริ่มสูบเฉลี่ย 18 ปี สาเหตุการเริ่มสูบบุหรี่ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ พบว่าเกินครึ่ง ร้อยละ 55 สูบเพราะอยากลอง รองลงมาคือสูบตามเพื่อน ในการนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และประทานรางวัล World No Tobacco Day Awards 2009 ขององค์การอนามัยโลก ให้ผู้ที่มีผลงานดำเนินงานป้องกันควบคุมบุหรี่ 2 ประเภท ได้แก่ รางวัล Director General Special Awards 2009 ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรางวัล World No Tobacco Day Awards 2009 แก่ กรมควบคุมโรค และดร.นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และได้ประทานโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานและบุคคล ผู้กระทำคุณประโยชน์ ผู้ให้การสนับสนุน และผู้มีผลงานดีเด่นด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ จำนวน 30 รายด้วย ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สนับสนุนแนวคิดการนำภาษียาสูบและสุรามาตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเป็นผู้วางแผน ประสานงานและนำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2542 ปัจจุบันสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการรณรงค์ถึงพิษภัยของบุหรี่ผ่านสื่อมวลชนโดยเฉพาะทางทีวี รวมทั้งสนับสนุนการผลักดันการพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ และรูปแบบการนำภาษียาสูบและสุรามาสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้นแบบของรัฐบาลประเทศต่างๆที่นำไปพิจารณาผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศของตัวเอง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลควบคุมการบริโภคยาสูบและกำกับดูแลการใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ใน ปี พ.ศ.2517ได้ออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ให้พิมพ์ข้อความคำเตือนบนซองบุหรี่ครั้งแรก โดยใช้คำว่า “การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” และได้มีการพัฒนาข้อความเรื่อยมา โดยในปี พ.ศ.2540 เพิ่มขนาดคำเตือน เป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ซองทั้งสองด้าน ให้บังคับใช้ทั้งบุหรี่ภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี พ.ศ.2547 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 ให้พิมพ์ภาพคำเตือนสี่สีจำนวน 6 ภาพครั้งแรก และมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2548 ในปี พ.ศ.2549 ให้จัดทำคำเตือนเป็นอักษร พิมพ์ที่ข้างซองบุหรี่ เกี่ยวกับสารพิษและสารก่อมะเร็ง และพิมพ์ภาพเตือนภัยสี่สี 9 ภาพ ที่ซองบุหรี่ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่ได้จัดทำภาพพร้อมคำเตือนบนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยสามประเทศแรกได้แก่ แคนนาดา บราซิล และสิงคโปร์ สำหรับ ดร. นายแพทย์สุภกร บัวสาย ในฐานะผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้สร้างผลงานรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชน ลด ละ เลิกบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ศึกษาอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้านักศึกษาไทยในการเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ที่ใช้มาตรา 301 เพื่อเจรจาให้ไทยเปิดตลาดบุหรี่โดยส่งหนังสือคัดค้านถึง ประธานาธิบดี จอร์จ บุช เมื่อปี พ.ศ.2533 เป็นแกนนำจัดทำข้อเสนอจัดตั้งสถาบันเอกชนเพื่อสาธารณสุขและกองทุนเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ผลักดันพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.... ผ่านคณะรัฐมนตรี นายมานิตยังกล่าวต่ออีกว่า ขอเชิญชวนผู้ที่สูบบุหรี่ให้ถือฤกษ์ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม เป็นต้นไป เลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร เมื่อเลิกสูบบุหรี่ได้ ร่างกายและปอด จะปลอดสารพิษจากควันบุหรี่ จะรู้สึกโล่งหายใจได้สะดวกขึ้น ภายใน 2 สัปดาห์เสมหะจะลดลง ลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ลดความเสียงจากโรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ ลดความเสี่ยงจากโรคถุงลมปอดโป่งพอง และถ้าเลิกสูบบุหรี่ขณะที่ยังไม่มีการทำลายปอดอย่างถาวร สมรรถภาพของปอดก็จะสามารถฟื้นตัวได้ ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ จะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป หากเลิกสูบก่อนอายุ 50 ปี จะมีโอกาสเสียชีวิตเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ที่คงสูบต่อไป เมื่อทั้งสองมีอายุ 65 ปี **************************************** 31 พฤษภาคม 2552


   
   


View 11    31/05/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ