กระทรวงสาธารณสุข เตรียมประกาศโรคไข้ซิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความ ประสานกระทรวงมหาดไทยให้องค์กรท้องถิ่นร่วมมือควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด เผยตั้งแต่ต้นปี 2552 ถึงวันนี้ พบผู้ป่วยโรคชิกุนคุนยาแล้วกว่า 22,000 ราย ใน 28 จังหวัด สั่งสาธารณสุขทุกจังหวัดโดยเฉพาะ 48 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ป่วย ให้คุมเข้ม ไม่ให้โรคแพร่ระบาดในพื้นที่ ย้ำให้แพทย์ซักประวัติการเดินทางอย่างละเอียด ในผู้ป่วยที่มีไข้ มีผื่นคัน ปวดข้อ และป้องกันอย่าให้ยุงกัดผู้ป่วยเพื่อตัดการแพร่เชื้อ วันนี้(1 มิถุนายน 2552)ที่โรงแรมเจริญโฮเต็ล จังหวัดอุดรธานี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าสถานีอนามัย 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมกว่า 1,000 คน เพื่อชี้แจงนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลซึ่งจะนำร่อง 2,000 แห่ง กระจายทุกจังหวัดและทุกอำเภอ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป พร้อมมอบนโยบายการดำเนินป้องกันควบคุมโรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ที่กำลังระบาดหนักในภาคใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดในพื้นที่อื่น นายวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้ชิคุนกุนยาในขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะมีการระบาดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในภาคใต้ และเริ่มพบผู้ป่วยประปรายในภาคอื่นๆ ของประเทศ และหากผู้ป่วยเหล่านี้ถูกยุงลายในพื้นที่กัด อาจจะเกิดการถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนอื่นได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มียุงลายชุกชุม หากไม่มีการเฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างเข้มข้นคาดว่าจะเกิดการระบาดได้ โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ รวมทั้งชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการทำสวนยางพาราและสวนผลไม้เพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการแพร่พันธ์ของยุงและเอื้อต่อการระบาดของโรค ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของผู้ที่มาจากพื้นที่ระบาดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ เช่นกลุ่มคนสวน คนกรีดยาง กลุ่มทหาร กลุ่มอาจารย์ นักศึกษา อาจนำโรคจากพื้นที่ติดตัวมาด้วย จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในกลุ่มเหล่านี้ นายวิทยา กล่าวต่อว่า การควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลาย กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมออกประกาศให้โรคชิกุนคุนยาเป็นโรคติดต่อ และต้องแจ้งความภายใน 24 ชั่วโมง ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2523 และทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ท้องถิ่นให้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง โดยสั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งมี 48 จังหวัด เฝ้าระวังควบคุมไม่ให้มีผู้ป่วยในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ส่วน 28 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยต้องควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย จำกัดการแพร่ระบาดลงให้เร็วที่สุด กำชับให้แพทย์ซักประวัติผู้ป่วยที่มีไข้ มีผื่นคัน และปวดข้อ ทุกรายว่าเดินทางจากพื้นที่ระบาดหรือไม่ เพื่อสามารถควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งให้คำแนะนำให้ใช้ยาทากันยุง และมุ้งป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย และให้ อสม.เฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยหากพบผู้มีไข้ และมีอาการปวดข้อหรือมีผื่น ภายใน 14 วัน ให้รีบรายงานสถานีอนามัย เพื่อเจ้าหน้าที่ออกดำเนินการติดตาม ควบคุมป้องกันโรคต่อไป ส่วนกรณี ที่มีข่าวหญิงตั้งครรภ์ที่จังหวัดตรังป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คลอดลูกแล้วลูกเสียชีวิตหลังคลอด เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552ที่ผ่านมา ซึ่งสงสัยว่าอาจมีสาเหตุจากติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยานั้น นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมทีมสวบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากสำนักงานควบคุมป้องกันโรค จ.สงขลา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังและโรงพยาบาลตรัง ดำเนินการสวบสวนหาสาเหตุและเก็บตัวอย่างเลือดมารดาและลูกส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ เพื่อดูว่าติดเชื้อโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ คาดว่าจะทราบผล ภายใน 1 สัปดาห์ ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าโรคชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หลังได้รับเชื้อ 3-5 วัน จะมีอาการไข้ มีผื่นแดงตามลำตัว แขน ขา และมีอาการปวด บวมแดง ร้อน บริเวณข้อ โดยเฉพาะข้อนิ้ว ข้อมือ และข้อเข่า บางรายอาจปวดจนเดินไม่ได้ ไม่มียารักษาหายขาด มีเพียงยาบรรเทาอาการ เช่นให้ยาลดไข้ ผู้ที่มีอาการป่วยหลังมีไข้ ในระยะ 1 สัปดาห์แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย ต้องระวังไม่ให้ยุงกัด ควรนอนในมุ้ง ป้องกันยุงกัด หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรคหรือเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด และสงสัยเป็นโรคชิคุนกุนยา ให้รีบไปรักษา บอกประวัติการเดินทางให้แพทย์ผู้รักษาทราบ เพื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจะได้ลงไปควบคุมโรคในพื้นที่ทันที วิธีป้องกัน โรคนี้ที่ดีที่สุดคือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้านและบริเวณรอบบ้าน และป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่ติดมุ้งลวด ใช้ยาทากันยุง สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องออกไปทำสวน สำหรับประชาชนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมโรค 02-590-3333 และศูนย์บริการข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข 02-590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือดูข้อมูลผ่านเว็ปไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –27 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา จำนวน 22,276 ราย ใน 28 จังหวัด ไม่มีรายงานเสียชีวิต **************************************************** 1 มิถุนายน 2552


   
   


View 13    01/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ