รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่คุมเข้มการควบคุมโรคชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย ที่จังหวัดสตูล เผยเป็นโรคที่พบการระบาดเป็นประจำแต่แนวโน้มปีนี้สูงผิดปกติ พบผู้ป่วยในหลายพื้นที่ กำชับผู้เกี่ยวข้องออกสอบสวนควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว ส่วนอสม.ดูแลแนะนำละแวกบ้านในเขตรับผิดชอบ ให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นประจำ รวมทั้งป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งช่วยป้องกันได้ทั้งไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย วันนี้ (1 มิถุนายน 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหาร ร่วมกันเปิดกิจกรรมรณรงค์ควบคุมโรคชิคุนกุนยา ที่โรงเรียนบ้านไทรงาม ต.ควนขัน อ.เมืองสตูล และเทศบาลเมืองสตูล จ.สตูล โดยปล่อยคาราวานเจ้าหน้าที่พ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย แจกโลชั่นทากันยุง ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย บริการชุบเสื้อและมุ้งด้วยน้ำยากันยุง ซึ่งจะอยู่ได้นาน 3 เดือน รวมทั้งเอกสารความรู้ให้แก่ประชาชน นายมานิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ขณะนี้นับว่าน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกว่าทุกปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552-27 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยรวม 22,276 ราย ใน 28 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยร้อยละ 95 อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ที่เหลือกระจายอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มอบนโยบายให้ทุกพื้นที่รณรงค์ควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น เน้นให้ความรู้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและรอบๆ บ้าน เป็นประจำทุก 7 วัน และป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด พร้อมกันนี้ ได้กำชับให้อสม.คอยสอดส่องดูแลแนะนำเพื่อนบ้านในละแวกรับผิดชอบอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยสงสัยโรคชิคุนกุนยา คือ มีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัว ปวดข้อ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อออกสอบสวนควบคุมโรคทันที “เนื่องจากโรคชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ทั้งยุงลายสวน และยุงลายบ้านที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ดังนั้น การรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย นอกจากจะมีผลในการป้องกันโรคชิคุนกุนยาแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกที่พบระบาดในช่วงฤดูฝนเหมือนกัน และมีความรุนแรงของโรคมากกว่าได้อีกด้วย” นายมานิต กล่าว ด้าน นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคชิคุนกุนยา พบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ ต่างจากไข้เลือดออกที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี ในไทยมีการระบาดมาแล้ว 6 ครั้ง แต่การระบาดครั้งนี้เป็นสายพันธุ์แอฟริกัน ซึ่งไม่เคยระบาดมาก่อน โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 วัน อาการสำคัญคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดข้อ พบบ่อยที่ข้อนิ้ว ข้อมือ และข้อเท้า อาการปวดข้อส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาการปวดข้ออาจเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ โรคนี้ยังไม่มียารักษา สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันตนเอง โดยนอนในมุ้ง ใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเวลาออกทำงานในสวน หรือใช้ยาทาป้องกันยุง หากป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แนะนำไม่ให้เดินทางไปที่อื่นในช่วง 5 วันแรกที่ป่วย และทายากันยุงกัด สรุปว่าป้องกันอย่าให้เป็น ถ้าเป็นก็อย่าให้แพร่โรค ซึ่งทำได้โดย ป้องกันอย่าให้ยุงกัด(ทายากันยุง)และควบคุมอย่าให้ยุงเกิด (ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง) ************************************** 1 มิถุนายน 2552


   
   


View 10    01/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ