สาธารณสุขทุ่มงบกว่า 30,000 ล้านบาท พัฒนาสถานีอนามัย 9,000 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประชาชนในตำบล ให้มีสุขภาพดี นำร่อง 3,000 แห่งตั้งแต่ปีนี้ ถึงปี 2553 บริการครอบคลุมทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันรักษาโรค และฟื้นฟูสภาพ นำระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์ รักษาตรงกับแพทย์เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลอำเภอ คาดหวังลดการเจ็บป่วยประชาชน ลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ วันนี้ (1 มิถุนายน 2552) ที่โรงแรมเจริญโฮเต็ล จ.อุดรธานี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าสถานีอนามัย 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมกว่า 1,000 คน เพื่อชี้แจงนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างอย่างสะดวกและลดจำนวนผู้เจ็บป่วย หลังจากนั้นเดินทางไปดูสถานีอนามัยนาบัว อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นายวิทยากล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 จะป่วยด้วยโรคพื้นฐาน เช่น ไข้หวัด ปวดเมื่อย กระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ที่สถานีอนามัย ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลในอำเภอหรือจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาสถานีอนามัย ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดและดูแลสุขภาพของตนเองและท้องถิ่น การพัฒนาครั้งนี้หวังให้สถานีอนามัยเน้นหนักในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ลดการเจ็บป่วยในระยะยาว และบริการครอบคลุมไปถึงการป้องกันโรค การรักษาโรค และฟื้นฟูสภาพหลังเจ็บป่วยแล้ว นายวิทยา กล่าวต่อว่า โครงการการพัฒนาโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในตำบลครั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2552-2556 เป้าหมายจำนวน 9,000 แห่ง ใช้งบทั้งหมด 30,877 ล้านบาทเศษ จากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช.และสสส. โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2553 จำนวน 3,000 แห่ง แต่ละแห่งจะสนับสนุนงบ 2 แสนบาทเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมทั้งติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์ ให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและผู้ป่วย ปรึกษาพูดคุย ซักถามอาการและการรักษาทางอินเตอร์เน็ต กับแพทย์ที่โรงพยาบาลอำเภอโดยตรง แพทย์เห็นหน้าผู้ป่วยด้วย สร้างความมั่นใจผู้ป่วยว่าจะได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ ในงบปี 2553 จะสนับสนุนอีกแห่งละ 1. 3 ล้านบาท ปรับปรุงโครงสร้างอาคาร จัดซื้อเครื่องมือที่จำเป็น ในการให้บริการ เช่น ต่อเติมชั้นล่างเป็นห้องตรวจ มีเตียงนอนสังเกตอาการ มียาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับโรงพยาบาล มีรถออกเยี่ยมบ้าน มีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกินขีดความสามารถจะมีระบบส่งตัวรักษาต่อในโรงพยาบาลใหญ่ทันที ทางด้านแพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า จะมีการเพิ่มบุคลากรจากเดิมอีก 2-4 เท่าตัว หรือให้มีประมาณ 6-12 คน ทำงานร่วมกับ อสม.ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ส่วนการรักษาพยาบาล จะจัดให้มีพยาบาลเวชปฎิบัติประจำทุกแห่ง ทำหน้าที่ตรวจรักษาโรคพื้นฐาน ทั้งนี้อาจมีแพทย์ บุคลากรด้านแพทย์แผนไทย เภสัชกร ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักสังคมสงเคราะห์ ไปร่วมให้บริการทั้งเต็มเวลาหรือบางเวลา ตามความจำเป็นและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เชื่อมั่นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ในการพัฒนาครั้งนี้เป็นอันมาก มิถุนายน /4 ********************************************* 1 มิถุนายน 2552


   
   


View 11    01/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ