รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งคุมเข้มการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในสตูล ตรัง นครศรีธรรมราช และพัทลุง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ขึ้นสู่ภาคใต้ตอนบน ย้ำเตือนโรงพยาบาล 14 จังหวัดภาคใต้ ให้เฝ้าระวังในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นพิเศษ ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคเตือนหญิงตั้งครรภ์ ช่วงใกล้คลอดหากป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยา ขอให้ไปคลอดที่โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของลูก เนื่องจากข้อมูลวิชาการพบมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อให้ลูกได้ประมาณร้อยละ 50 นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ติดตามการควบคุมโรคชิคุนกุนยา ที่จังหวัดพัทลุง ในวันนี้ (1 มิถุนายน 2552) ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มทรงตัว แต่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในพื้นที่เหนือขึ้นมา เช่น ตรัง พัทลุง ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่เข้มการควบคุมโรค โดยเฉพาะ 4 จังหวัด ได้แก่ สตูล ตรัง นครศรีธรรมราช และพัทลุง เพื่อเป็นแนวกั้นไม่ให้โรคมีการแพร่ระบาดขึ้นมาสู่ภาคใต้ตอนบนได้ นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีเด็กชายที่แม่ป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยาก่อนคลอดและเสียชีวิตหลังคลอดได้ 6 วันที่โรงพยาบาลตรังนั้น ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่า จากผลการตรวจเลือดและเอ็กซ์เรย์ปอดพบว่า ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคชิคุนกุนยาแต่อย่างใด แต่เกิดจากการสำลักน้ำคร่ำทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย ปอดอักเสบและเสียชีวิต อย่างไรก็ตามมีรายงานทางการแพทย์พบว่าโรคนี้หากมีอาการป่วยขณะตั้งครรภ์สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้จึงกำชับให้ทุกโรงพยาบาลใน 14 จังหวัดภาคใต้เฝ้าระวังในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นพิเศษ ด้านนายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในต่างประเทศมีรายงานหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยาในช่วงใกล้คลอด เชื้อสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ประมาณร้อยละ 50 ลูกที่ได้รับเชื้อจากแม่ประมาณครึ่งหนึ่ง จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ โดยหากติดเชื้อในช่วง 1 – 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจมีผลระทบต่อสมองของเด็กทำให้พัฒนาการช้า ดังนั้นจึงขอเตือนหญิงตั้งครรภ์ทุกคน หากป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยาในช่วงใกล้คลอดแม้อาการไม่รุนแรง ก็อย่าวางใจ ขอให้ไปคลอดกับแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของลูก มิถุนายน/7 .......................................... 1 มิถุนายน 2552


   
   


View 11    01/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ