กระทรวงสาธารณสุข ทำแบบสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กวัยเรียนฉบับแรกของประเทศ เตรียมแจกจ่ายจังหวัดใช้เป็นเครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันพฤติกรรมเสี่ยง ให้เด็กเติบโตอย่างมั่นคง ลดปัญหาสังคม หลังผลสำรวจล่าสุดปี 2550 พบเด็กอนุบาลมีไอคิว 110.67 จุด แต่พอโตขึ้นถึงวัยประถมไอคิวกลับลดลงเหลือ 97.31 จุด และพบปัญหาเด็กและเยาวชนก่อคดีความรุนแรงมากขึ้น เช้าวันนี้ (4 มิถุนายน 2552) ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลส กทม. นายมานิต นพอมรบดี เปิดการประชุมวิชาการ การพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ประจำปี 2552 เรื่อง “พลังพ่อแม่ พลิกวิกฤต สู่โอกาส” ซึ่งกรมสุขภาพจิตจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 ระหว่างวันที่ 4–5 มิถุนายน 2552 เพื่อให้บุคลากรด้านสาธารณสุข การศึกษา และการพัฒนาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครองและเครือข่าย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความฉลาดทางปัญญาและอารมณ์ของเด็กไทย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ นายมานิต กล่าวว่า ผลสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยปี 2550 แม้โดยรวมจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2545 พบว่ามีแนวโน้มลดลงเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น โดยเด็กอนุบาลอายุ 3-5 ปี มีไอคิวเฉลี่ย 110.67 จุด แต่พอโตขึ้นในวัยประถมศึกษา อายุ 6-11 ปี กลับลดลงเหลือ 97.31 จุด และผลสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยล่าสุดในปี 2551 พบว่า เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมด้านร้ายสะสมมากขึ้น เช่น ตั้งครรภ์ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูลูก ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา มีเด็กกระทำผิดถูกส่งเข้าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กมากขึ้น จากประมาณ 40,000 รายในปี 2550 เป็น 42,102 รายในปี 2551 จากคดีลักทรัพย์ ยาเสพติด การทำร้ายร่างกาย เป็นส่วนใหญ่ และยังมีปัญหาเสพติดสื่อ เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต รวมทั้งมีความเครียดสูงและหนีเรียน ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ถูกกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจและสังคม อาจซ้ำเติมให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้น นายมานิตกล่าวต่อว่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ได้ให้กรมสุขภาพจิตจัดทำแบบสำรวจต้นทุนชีวิตของเด็กวัยเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยว่ามีมากน้อยเพียงใด มีส่วนใดที่ยังบกพร่องและต้องแก้ไข เครื่องมือดังกล่าวเป็นการทำงานเชิงรุก คือเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กวัยเรียนมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหามักใช้ลักษณะวัวหายล้อมคอก ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อใช้แบบสำรวจนี้ และนำข้อมูลไปวางกลยุทธ์ในการสร้างเสริมต้นทุนชีวิตที่ดีให้แก่เด็ก มั่นใจว่าจะสามารถยุติปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับเด็กและความรุนแรงทางสังคมได้ ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย เป็นเครื่องมือที่สะท้อนการมองคุณค่า หรือการมองเชิงบวกของเด็กแต่ละคน มี 5 ด้าน ได้แก่ 1.ตัวเอง 2.สังคม 3.ความสัมพันธ์ในครอบครัว 4.โรงเรียน และ 5.บริบททางสังคมไทยในปัจจุบันที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ จะสะท้อนถึงปัจจัยแง่มุมต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเด็ก ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีใช้แล้ว ในส่วนของไทย เครื่องมือนี้จะเป็นชิ้นแรกของประเทศ ที่จะทำให้สามารถนำข้อมูลมาใช้วางแผนในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ให้มีทั้งความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิว และความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว ทำให้เด็กมองโลกในแง่ดี มีความคิดถูกต้อง สามารถแก้ปัญหาให้หลุดพ้นจากความกดดัน ความบีบคั้นต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทางด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า เครื่องมือสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กที่พัฒนาขึ้น ลักษณะเป็นแบบสอบถาม ให้เด็กวัยเรียนอายุ 6–12 ปี ตอบเอง แบ่งเป็นแบบสำรวจของเด็ก ป.1–ป.3 ซึ่งจะใช้คู่กับแผ่นภาพ และแบบสำรวจของเด็กชั้น ป.4–ป.6 มี 40 ข้อคำถาม จากการทดลองเก็บข้อมูลในปี 2551 ในกลุ่มเด็ก จำนวน 420 คน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ราชบุรี ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร พบว่า ต้นทุนชีวิตที่เด็ก ป.1–ป.3 ประเมินตัวเองว่ามีมากที่สุดคือ ครูและเพื่อนที่ใส่ใจดูแล ร้อยละ 61 การสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 61 และผู้ใหญ่เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญร้อยละ 60 ส่วนต้นทุนชีวิตที่เด็กคิดว่ามีน้อยที่สุด ได้แก่ ครอบครัวมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มีเหตุผลและการติดตามจากครอบครัว ร้อยละ 47 การใช้เวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน ร้อยละ 54 เท่ากัน ส่วนเด็ก ป.4–ป.6 ต้นทุนชีวิตที่มีมากที่สุด ร้อยละ 99 คือ การสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือด้านการเรียน และความซื่อสัตย์ ต้นทุนชีวิตที่มีน้อยที่สุด ได้แก่ การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 43 มีกิจกรรมสันทนาการนอกหลักสูตรมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 47 และได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในสิ่งที่ตัวเองต้องการทั้งที่บ้านและชุมชน ร้อยละ 49 ขณะนี้ กรมสุขภาพจิตร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำไปใช้ในศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาไอคิว อีคิวของลูกใน 15 จังหวัด เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนพัฒนาเด็กของ อบต. โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นผู้สนับสนุนการทำงาน ซึ่งพบว่าได้ผลดี และหลาย อบต.นำไปขยายผลใช้ในหลายพื้นที่ **************************************** 4 มิถุนายน 2552


   
   


View 11    04/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ