กระทรวงสาธารณสุข เผยการยกมาตรการรับสถานการณ์ที่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในการรองรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงานของประเทศ ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมรับมือหากองค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับความรุนแรงของการระบาดเป็นระดับ 6 ด้วย ล่าสุดจะประสานงานเพื่อดูแลกลุ่มนักศึกษาที่จะกลับจากฝึกประสบการณ์ต่างประเทศเร็วๆ นี้ เพื่อติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว หากพบรายใดป่วยจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว จำกัดการแพร่ระบาด วันนี้ (5 มิถุนายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ภายหลังประชุมศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า มาตรการต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ที่ประชุมคณะกรรมการระดับชาติวานนี้ (4 มิถุนายน 2552) เป็นการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ภายในประเทศ ที่เริ่มเปลี่ยนจากการพบผู้ป่วยติดเชื้อจากภายนอกประเทศ มาเป็นการพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งจะพร้อมรองรับในกรณีที่องค์การอนามัยโลกพิจารณาประกาศเลื่อนระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาด เป็นระดับ 6 ได้พร้อมกันด้วย โดยการดำเนินงานจะยกความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ เป็นความร่วมมือระดับประเทศ ตามยุทธศาสตร์แผนรับมือการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ชาติ ได้แก่ ด้านการประสานและสั่งการ จะตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกลไกประสานงานระดับชาติ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจะทำหน้าที่เฝ้าระวัง ควบคุมโรค รักษาผู้ป่วย แนะนำดูแลผู้ป่วยที่บ้านในรายที่อาการ ไม่รุนแรง มีกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ ด้านการสร้างเสริมพฤติกรรมและวัฒนธรรมสุขภาพ โดยการเร่งขยายการรณรงค์สร้างเสริมพฤติกรรมป้องกันโรคในชุมชนให้กว้างขวาง กระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบในโรงเรียน ส่วนกระทรวงแรงงานฯ รับผิดชอบในโรงงาน ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ขยายการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีการป้องกันโรคในวงกว้าง มีกรมประชาสัมพันธ์ รับผิดชอบ และในด้านการดูแลความสงบเรียบร้อย กรณีการระบาดขยายตัวในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องปิดโรงเรียนหรือสถานที่ที่มีการแพร่ระบาด จะมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า มาตรการสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด คือการค้นหาผู้ป่วยและให้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทุกคน สนใจ เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง รีบไปพบแพทย์เมื่อรู้สึกไม่สบาย และรู้วิธีป้องกันตัว ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น เช่น ใช้หน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากจมูกเวลาไอจาม หลีกเลี่ยงการพบปะสัมผัสผู้อื่นในช่วง 7 วันหลังกลับจากการเดินทาง เป็นต้น สำหรับกลุ่มนักศึกษาโครงการพิเศษ ที่เดินทางไปฝึกประสบการณ์ในช่วงปิดภาคการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งจะเดินทางกลับมาลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาใหม่ ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะขอความร่วมมือบริษัทที่รับดำเนินการ กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอาใจใส่ติดตามดูแลนักศึกษากลุ่มนี้เป็นพิเศษ และรายงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ หากเด็กมีอาการป่วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในสถาบันการศึกษา โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักควบคุมโรคในพื้นที่ จะเข้าไปประสานการดูแลอย่างต่อเนื่อง ****************** 5 มิถุนายน 2552


   
   


View 11    05/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ