รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์คนไทยใส่ใจ 3 อ. คือ กินอาหารที่มีไขมันน้อย ลดหวานและเค็ม เพิ่มผักผลไม้ มีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง และออกกำลังกายเพียงพอ จัดการความเครียดที่เหมาะสม และบอกลา 2 ส. คือไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุรา หากปฏิบัติเป็นประจำ ความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด จะลดลงแน่นอน วันนี้ (11 มิถุนายน 2552) เวลา 13.00 น. นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดรณรงค์ “สื่อสารป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ปี 2552 เพื่อสร้างกระแสให้คนไทยรับรู้ภัยอันตรายของโรค พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง และลดละ เลิกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค โดยเน้นกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ณ บริเวณลานน้ำพุ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ และเปิดนิทรรศการ 365 วัน ปลอดโรค ปลุกกระแสคนไทยใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ งดสูบบุหรี่และลดการดื่มสุรา) ต้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นายมานิต กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหาเรื่องโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ แต่ส่วนใหญ่ประชาชนจะรับรู้และให้ความสนใจกับโรคติดต่อ โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ซึ่งในขณะเดียวกันโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสมและขาดความสมดุล สภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย ขาดการใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนับวันจะขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ นายมานิต กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไข ป้องกัน โดยรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนให้ดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงป่วย หากได้ผลดีจะลดการสูญเสียจีดีพีลงได้ร้อยละ 10-20 โดยมอบนโยบายให้ทุกจังหวัดดำเนินงานเชิงรุกให้ทั่วถึง เน้นสร้างและพัฒนาระบบเฝ้าระวัง พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดำเนินงาน การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการประชาสัมพันธ์เตือนภัย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดี มีพฤติกรรมสุขภาพเหมาะสม ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล สถานีอนามัยทั่วประเทศ รณรงค์ให้ข้อมูลความรู้ เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนรักสุขภาพด้วย 3 อ. ได้แก่ กินอาหารที่มีไขมันน้อย ลดหวานและเค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 5 วัน ซึ่งจะมีผลให้อารมณ์ไม่เครียดด้วย และบอกลา 2 ส. คือไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา หากปฏิบัติได้เป็นประจำก็มีความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังน้อยลง ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2550 คนไทยทุกๆ 1 แสนคน จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 55 คน และมีผู้ที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ด้วยโรคความดันโลหิตสูง 782 คน เบาหวาน 654 คน โรคหัวใจขาดเลือด 262 คน และโรคหลอดเลือดสมอง 206 คน แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นจากปี 2540 ทุกโรคประมาณ 3-5 เท่าตัว คาดประมาณว่าโรคเรื้อรังดังกล่าวทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพี ในปี 2549 ประมาณ 4,200 ล้านบาท คาดในปี 2558 การสูญเสียสะสมจะเพิ่มถึง 52,150 ล้านบาท **************************************11 มิถุนายน 2522


   
   


View 11    11/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ