กระทรวงสาธารณสุข พร้อมขยายผลให้สถานที่ราชการทั่วประเทศเป็นเขตปลอดบุหรี่ภายในปีนี้ เผยผลสำรวจประชาชนที่ติดต่อราชการกว่า 3,000 คน พบร้อยละ 93 เห็นด้วยที่สถานที่ราชการกำหนดเขตปลอดบุหรี่ และเขตสูบบุหรี่ ส่วนกลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 70 ยินดีที่จะให้ความร่วมมือไม่สูบบุหรี่ในสถานที่ราชการ วันนี้กระทรวงสาธารณสุขมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานต้นแบบ 16 แห่ง วันนี้ (24 มิถุนายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล โฆษกกรมควบคุมโรค ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แถลงข่าวการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่ดำเนินการเป็นสถานที่ราชการปลอดบุหรี่ นายมานิต กล่าวว่า จากกฎหมายควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ได้ระบุให้แต่ละประเทศต้องป้องกันประชาชนของตนเองจากภัยของควันบุหรี่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งขยายมาตรการคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งไทยมีประมาณ 51 ล้านคน และรณรงค์ให้ผู้ที่สูบบุหรี่ลดละการสูบบุหรี่ โดยมีนโยบายให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด นำร่องระยะแรกในพ.ศ. 2549-2550 ในหน่วยงานส่วนกลาง 20 กระทรวง โดยให้จัด “เขตสูบบุหรี่” เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้ควันบุหรี่รบกวนผู้อื่น นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ศาลากลางจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ดำเนินการให้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ และส่วนใหญ่จัดเขตสูบบุหรี่ไว้บริเวณด้านหลังและด้านข้างของอาคารมากที่สุด รองลงมาเป็นที่จอดรถและบริเวณอื่นๆ ของอาคาร เช่น ดาดฟ้า และ ต้นไม้ ทั้งนี้ ผลสำรวจประชาชนทั่วไปที่มาติดต่อราชการทั่วประเทศ จำนวน 3,462 คน เห็นด้วยที่กำหนดเขตปลอดบุหรี่ และสูบบุหรี่ เฉพาะในเขตที่จัดไว้ในสถานที่ราชการ ร้อยละ 93 และผู้ที่สูบบุหรี่ยินดีที่จะให้ความร่วมมือไม่สูบบุหรี่ในสถานที่ราชการ ร้อยละ 70 ส่วนผลสำรวจบุคลากรภายในหน่วยงานราชการทั่วประเทศ จำนวน 9,821 คน พบเห็นด้วยกับการกำหนดเขตปลอดบุหรี่ในสถานที่ราชการ ร้อยละ 88 และกลุ่มตัวอย่างคิดว่า การจัดเขตสูบบุหรี่ภายในหน่วยงานส่งผลให้การสูบบุหรี่ลดลง ร้อยละ 61 โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะขยายผลดำเนินการสถานที่ราชการปลอดบุหรี่ ในทุกส่วนราชการทั่วประเทศ และเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจในการดำเนินงานสถานที่ราชการปลอดบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุขได้คัดเลือกหน่วยงานราชการที่มีผลงานดีเด่นในการจัดสถานที่ราชการเป็นเขตปลอดบุหรี่ และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่หน่วยงานราชการอื่น แบ่งเป็น 4 ประเภท จำนวน 16 หน่วยงาน ดังนี้ 1.หน่วยงานราชการที่สนับสนุนให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเป็นสถานที่ราชการปลอดบุหรี่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.หน่วยงานในสังกัดดำเนินการให้สถานที่ราชการปลอดบุหรี่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 3.สถานที่ราชการประจำจังหวัดนำร่องระดับภูมิภาคเป็นเขตปลอดบุหรี่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และ 4.ศูนย์ราชการประจำจังหวัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ 8 หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัดชลบุรี เชียงราย ชัยภูมิ นครนายก กำแพงเพชร ภูเก็ต อุทัยธานี ตราด ทั้งนี้ ตามกฎหมายควบคุมบุหรี่โลก องค์การอนามัยโลกได้ระบุกรอบแนวทางที่จะทำให้การควบคุมยาสูบบรรลุผล มีประสิทธิภาพไว้ 6 ด้าน ได้แก่ การกำกับนโยบายและแนวทางในการควบคุมการบริโภคยาสูบ การเตือนถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ การเพิ่มภาษีบุหรี่ การบริการเลิกบุหรี่ และการปกป้องประชาชนจากควันบุหรี่ ซึ่งประเทศไทยจัดว่าดำเนินการตามแนวทางนี้ได้ครบทุกมาตรการ ซึ่งจะส่งผลดีกับประชาชนเป็นอย่างมาก ผลสำรวจการสูบบุหรี่ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศล่าสุด พบว่าสูบบุหรี่จำนวน 10.8 ล้านคน หรือร้อยละ 21 ของประชากร โดยสูบบุหรี่เป็นประจำ 9.4 ล้านคน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2535 ที่มีผู้สูบบุหรี่ประจำเกือบ 12 ล้านคน *****************************24 มิถุนายน 2552


   
   


View 8    24/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ