รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ใช้กลยุทธ์ 333 สยบโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เน้นย้ำการป้องกันไม่ให้ยุงกัดคน ระดมพลังทุกภาคส่วนรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและรอบบ้านใน 14 จังหวัดใต้ ทุกวันศุกร์ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ เริ่มพร้อมกันทั้งภาคตั้งแต่สัปดาห์นี้ และให้อสม. เอ็กซเรย์ทุกหลังคาเรือนค้นหาผู้ป่วยมารักษาและลงควบคุมโรคทันที โดยให้คนที่มีไข้ทายากันยุงติดต่อกัน 3 วันและนอนในมุ้ง มั่นใจครบ 3 เดือน โรคลด วันนี้ (25 มิถุนายน 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการอย. และนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดประชุมวิชาการสุขภาพภาคประชาชน เรื่อง แนวทางการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโครงการศาสนสถานส่งเสริมสุขภาพ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เร่งรัดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อในชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยมีอสม. ผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจังหวัดยะลาร่วมประชุม 2,120 คน ในวันเดียวกันได้เปิดรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี พร้อมมอบนโยบายการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ภาคใต้ นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบการระบาดของโรคติดต่อหลายโรค เช่น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่มาจากต่างประเทศ และพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศในหลายจังหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไปที่มาพร้อมกับฤดูฝน และโรคไข้ปวดข้อยุงลายที่เป็นโรคประจำถิ่นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งปีนี้มีการระบาดใหญ่ และกำลังขยายวงไปยังภาคอื่นๆ โดยสำนักระบาดวิทยา รายงานข้อมูลตั้งแต่ 1 มกราคม – 23 มิถุนายน 2552 พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายสะสม 29,507 ราย ใน 39 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต มากที่สุดในภาคใต้ 29,343 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ นราธิวาส รองลงมา ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และสตูล โดยขณะนี้แนวโน้มของการเกิดโรคลดลง กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2552 มีนายแพทย์เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และได้กำหนด กลยุทธ์ 333 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในภาคใต้ให้สงบ และสกัดกั้นไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้ได้ภายใน 3 เดือน โดยจะจัดรณรงค์ในรูปแบบเดียวกันทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ต่อเนื่อง 3 เดือน เริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป โดยให้อสม.ในภาคใต้ซึ่งมีประมาณ 122,000 คน เป็นทัพหน้ารณรงค์แจกยาทากันยุง แจกแผ่นพับความรู้เรื่องโรคให้ประชาชน เดินเคาะประตูบ้านค้นหาผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ มีไข้ มีผื่นแดง คัน และมีอาการปวดข้อ ทุกหลังคาเรือนทุกวัน รายงานเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อให้การรักษาและลงควบคุมโรคทันทีแม้พบผู้ป่วยเพียง 1 ราย และดูแลให้ผู้ป่วยทายากันยุงในช่วงที่ยังมีไข้ซึ่งเป็นระยะแพร่เชื้อติดต่อกัน 3 วันและนอนในมุ้งป้องกันไม่ให้ยุงกัด รวมทั้งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้าน และในสวนบริเวณบ้าน ทุกวันศุกร์ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ในส่วนของ 4 จังหวัดภาคใต้ เน้นการประสานความร่วมมือกับผู้นำศาสนา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มั่นใจว่าเมื่อทำติดต่อกันครบ 3 เดือนจะสามารถควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ แม้ว่าโรคไข้ปวดข้อยุงลายไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตก็ตาม แต่ผู้ป่วยจะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ไม่สามารถทำงานได้ หากไม่เร่งควบคุมการแพร่ระบาด คาดว่าจะมีประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ป่วยไม่ต่ำกว่า 35,000 คน และหากหยุดงานเฉลี่ย 7 วัน จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศราว 700 ล้านบาท ด้านนายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลาเริ่มพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 พบผู้ป่วยทั้งหมด 2,569 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต มากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 770 ราย ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม นักเรียน และรับจ้าง อายุระหว่าง 25-44 ปี พบผู้ป่วยสูงสุดในอำเภอเบตง รองลงมาคือ ยะหา การเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้นำศาสนา ซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความเชื่อถือศรัทธา ช่วยเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคติดต่อด้วย ทางด้านนายแพทย์ยอร์น จิระนคร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม – 18 มิถุนายน 2552 พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งสิ้น 4,417 ราย สูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 1,221 ราย จากนั้นมีแนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและมีอาชีพเกษตรกร อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ กะพ้อ รองลงมา ได้แก่ ทุ่งยางแดง สายบุรี และมายอ สำหรับโรคไข้เลือดออกจนถึงขณะนี้พบผู้ป่วย 401 ราย ไม่มีเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทั้งนี้ ได้ตั้งวอร์รูมในทุกอำเภอที่พบผู้ป่วยแม้เพียง 1 ราย เพื่อดำเนินการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ในหมู่บ้านที่พบผู้ป่วยมากกว่า 20 ราย จะจัดหน่วยแพทย์ออกให้การรักษาถึงในพื้นที่ ดูแลความเครียด แจกยาทากันยุง และแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือจากคลินิก ร้านขายยาเป็นเครือข่ายรายงานข้อมูลผู้ป่วยที่มีไข้ มีผื่น ปวดข้อทุกวัน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ผ่านสื่อต่างๆ และผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา โรงเรียน *********************************************** 25 มิถุนายน 2552


   
   


View 12    25/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ