กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจพฤติกรรมในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี ในพื้นที่ 5 จังหวัด พบกว่าร้อยละ 60 เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หวัดนก เนื่องจากยังนิยมกินไข่ลวก ไข่ดาวยางมะตูม และไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร โดย 1 ใน 3 ทิ้งซากสัตว์ปีกในแม่น้ำลำคลอง เร่งปรับแก้พฤติกรรม นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็น เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกอีกได้แม้ว่าโรคนี้จะสงบมากว่า 100 วันก็ตาม ประชาชนจึงต้องป้องกันโรคนี้อย่างต่อเนื่อง หากมีไก่เป็ดหรือสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรืออาสาสมัครสาธารณสุขทันที และไม่นำสัตว์ปีกที่ตายแล้วหรือกำลังป่วย สังเกตโดยมีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง ห้ามมาชำแหละอย่างเด็ดขาด เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะติดขณะชำแหละโดยตรง ไม่จับซากสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า จะต้องสวมถุงมือพลาสติก หรือสวมถุงพลาสติกป้องกันทุกครั้ง นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า จากการติดตามพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในการป้องกันโรค กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ทำการสุ่มสำรวจพฤติกรรมป้องกันโรคไข้หวัดนกของนักเรียนระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมต้นอายุ 13-15 ปีรวม 1,877 คนใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กำแพงเพชร พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2549 – กันยายน 2549 ผลพบว่าบ้านของนักเรียนเกือบร้อยละ 50 เลี้ยงสัตว์ปีก นักเรียนร้อยละ 63 เสี่ยงติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เนื่องจากยังนิยมกินไข่ไม่สุก เช่นไข่ลวก ไข่ดาวยางมะตูมร้อยละ 62 ไม่ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารร้อยละ 65 และมีกว่า 1 ใน 3 ที่นำซากสัตว์ปีกไปทิ้งในแม่น้ำลำคลองตามสวน ทำให้โรคแพร่ระบาดได้ ส่วนในด้านความรู้โรคไข้หวัดนกเช่นอาการป่วย การกำจัดซากสัตว์ปีกถูกวิธี วิธีการป้องกัน พบว่าอยู่ในเกณฑ์ดีสูงกว่าร้อยละ 75 ขึ้นไป ทางด้านนางสาวสมบูรณ์ ขอสกุล ผอ.กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2550 กองสุขศึกษาได้จัดทำโครงการอบรมแกนนำเผยแพร่การป้องกันโรคไข้หวัดนกในช่วงฤดูหนาว เน้นหนักการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงติดโรค 4 เรื่องหลักได้แก่ ความสะอาดส่วนบุคคลคือการล้างมือให้เป็นนิสัย การกินสุก สะอาด การสัมผัสสัตว์ปีกและการแจ้งสัตว์ปีกป่วยตาย เน้นกลุ่มนักเรียนและกลุ่มชาวบ้าน ผ่านทางนักจัดรายการวิทยุชุมชน กลุ่มผู้นำนักเรียนและแกนนำชมรมสร้างสุขภาพ เบื้องต้นจะเน้น 6 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงที่เคยพบผู้ป่วยไข้หวัดนกได้แก่ กาญจนบุรี นครนายก นครพนม อุทัยธานี อุดรธานีและพังงา เพื่อจัดเป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยให้นักเรียนเป็นผู้คิดและพัฒนาสื่อที่จะใช้รณรงค์เอง จะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายดีขึ้น ส่วนกลุ่มนักจัดรายการวิทยุชุมชน ได้จัดทำโครงการคลื่นอาสารวมใจสู้ภัยไข้หวัดนกทั้ง 76 จังหวัด ขณะนี้อบรมไปแล้ว 9 จังหวัดได้แก่พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย พิจิตร ตาก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร จำนวน 400 คน และจะทำให้ครบทุกภาคภายในเดือนธันวาคม 2549 โดยจากการสำรวจพฤติกรรมและความรู้ป้องกันไข้หวัดนกในกลุ่มนักจัดรายการกลุ่มนี้พบว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดีมาก เช่น ไม่กินไข่ลวกไข่สุกๆดิบๆร้อยละ 70 กินไก่ปรุงสุกมากถึงร้อยละ 93 ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ปีกหรือจับสิ่งสกปรกร้อยละ 84 ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารร้อยละ 71 แจ้งสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติร้อยละ 88 และมีความรู้เรื่องอาการของไข้หวัดนก การติดต่อ การกำจักซากสัตว์ปีกและการป้องกันโรคสูงถึงร้อยละ 93-98 จึงมั่นใจว่านักจัดรายการวิทยุชุมชนจะสามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องการป้องกันโรคไข้หวัดนกสู่ประชาชนได้เป็นอย่างดี...ธค5/4********* 23 ธ.ค..49


   
   


View 9    23/12/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ