สาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ 3 รบ คือ รบรุก รบเร็ว รบแรง พร้อมจับมือ นายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด และประธานชมรม อสม. 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมกำจัด ขอความร่วมมือประชาชนยึดหลักอย่าให้ยุงกัด และหากป่วยแล้วอย่าแพร่เชื้อให้คนอื่น มั่นใจเห็นผลภายใน 90 วัน
วันนี้(28 มิถุนายน 2552) ที่ จังหวัดตรัง นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด และประธานชมรม อสม. 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมกำจัดโรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และเปิดศูนย์ปฏิบัติการหรือวอร์รูมควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้ปวดข้อยุงลายใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้โรคไข้ปวดข้อยุงลาย กำลังเป็นปัญหาในจังหวัดทางภาคใต้ และในหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานเชิงรุกในการควบคุมป้องกันโรค สามารถลดจำนวนผู้ป่วยในภาพรวมจาก 7,000 กว่าราย ในเดือนพฤษภาคม เหลือไม่ถึงร้อยละ 50 ในเดือนมิถุนายน ที่ยังน่าเป็นห่วงคือจังหวัดทางภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ตและระนอง มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้มการดำเนินงานมากขึ้น ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง มีนายแพทย์เสรี หงษ์หยกผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานศูนย์ฯ โดยประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ 14 จังหวัดภาคใต้ และเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อลดความรุนแรงในการระบาดของโรค
นายวิทยา กล่าวต่อว่าในวันนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดและประธานชมรมอสม.ใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อร่วมมือในการควบคุมและป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยมีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ สารเคมีกำจัดยุง ยาพ่น ยาทากันยุง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ขอร่วมมือประชาชนอีกด้วย ซึ่งหากทุกฝ่ายประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด จะสามารถขจัดโรคนี้ได้ไม่ยาก
ด้านนายแพทย์เสรี หงส์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ กล่าวว่า ในการควบคุมป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลายในภาคใต้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 3 รบ ได้แก่1.รบรุก โดยให้เจ้าหน้าที่ผนึกกำลังกับอสม.ออกเอ็กซเรย์ค้นหาผู้ป่วยในทั่วทุกพื้นที่ภาคใต้ หากพบผู้ป่วยให้รีบรายงาน แจกยาทาป้องกันยุงกัดภายใน 3 วัน และนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันยุงกัด นำเชื้อไปแพร่สู่คนอื่น 2.รบเร็วโดย เมื่อได้รับรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ใด ระดมเจ้าหน้าที่ ออกทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และยุงลายตัวแก่ภายใน 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง และ3.รบแรง โดยระดมทุกเครือข่าย ระดมทรัพยากรที่มี เพื่อควบคุมป้องกันโรคอย่างเต็มที่ และทำอย่างต่อเนื่องตลอด 3 เดือน มั่นใจว่าภายในกันยายน 2552 นี้ จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงได้ แน่นอน
ทั้งนี้ หากประชาชนสนใจ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.chikungunya.org/ สำหรับสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายใน 14 จังหวัดภาคใต้ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 -23 มิถุนายน 2552 มีรายงานผู้ป่วยสะสม 29,553 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต
*********************************************** 28 มิถุนายน 2552
View 17
28/06/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ