กระทรวงสาธารณสุข อบรมเข้มแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนทั้งในกทม.และปริมณฑล เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ย้ำคนกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงหลังติดเชื้อหวัดที่มีประมาณ 2.4 ล้านคน หากป่วยไข้หวัดต้องรีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบ วันนี้ได้รับแจ้งเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย และรอผลยืนยันอีก 1 ราย รวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 2,925 ราย เสียชีวิต 13 ราย ยันขอให้ทุกฝ่ายยึดจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความสับสนของประชาชน
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ภายหลังเปิดประชุม 8 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ในภูมิภาคและความเข้มแข้งในการป้องกันควบคุมโรค เมื่อเช้าวันนี้ (9 กรกฎาคม 2552) ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กทม. ว่า ขณะนี้การระบาดของประเทศไทย จัดอยู่ในระดับ 2 ซึ่งอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 0.1-0.5 คนทั่วไปยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ เพียงแต่ให้ดูแลตนเองตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อเดินทางไปดูแลผู้ป่วยอาการหนักร่วมกับทางจังหวัด อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประเทศไทยมีประชาชนที่เป็นโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงหากป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เท่าที่สำรวจและขึ้นบัญชีไว้ ประมาณ 2.4 ล้านคน ได้แก่ โรคปอด 1.3 แสนคน โรคหอบหืด 3.8 แสนคน โรคหัวใจ 3 แสนคน อัมพาต 1 แสนคน เบาหวาน 1.3 ล้านคน มะเร็ง 10,000 คน ไตวาย 60,000 คน รวมทั้งคนอ้วนน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมด้วย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนกลุ่มดังกล่าว เมื่อมีอาการไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติโรคประจำตัวให้ทราบ เพื่อให้ยาต้านไวรัสทันที ซึ่งในการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้บริหารโรงพยาบาลทุกจังหวัดพรุ่งนี้ จะได้มอบเป็นนโยบายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐเอกชน เพื่อให้ความรู้เชิงลึกกับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ที่ขึ้นทะเบียนไว้
อนึ่งในการประชุมประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย ภูฎาน อินโดนีเซีย อินเดีย มัลดีฟว์ พม่า เนปาล และ ติมอร์เลสเต นับว่าเป็นประโยชน์มาก โดยจะประชุมทั้งหมด 3 วัน มีการนำเสนอสถานการณ์การระบาดของโรค มาตรการการป้องกัน การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์การทำงาน การเฝ้าระวังโรค ยารักษารวมถึงการผลิตวัคซีน และระบบการแลกเปลี่ยนยาระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานแต่ละประเทศด้วย
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดอบรมด้านการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แก่แพทย์โรงพยาบาลเอกชนและกทม.และปริมณฑลเมื่อเช้าวันนี้ ที่โรงแรม มิราเคิล ว่า โรคนี้เป็นโรคระบาดติดต่อรวดเร็วจากคนสู่คน โดยโรคจะมีความรุนแรงในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งมีประมาณร้อยละ 5 ที่ต้องได้รับยาต้านไวรัส ที่เหลือหายเองได้ สำหรับรายที่เสียชีวิตที่ผ่านมา นอกจากจะมีโรคประจำตัวเป็นส่วนใหญ่แล้วยังพบว่า 1 ใน 3 มีสาเหตุจากมาพบแพทย์ช้า ในวันนี้จึงได้หารือกับทีมแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ในประเด็นที่เป็นปัญหา 3 เรื่อง ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล มาตรฐานการรักษา และการส่งตัวอย่างสารคัดหลั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเรื่องนี้ได้ขอให้ยึดตามมาตรฐานราคากลางที่กำหนดไว้ รวมทั้งยึดมาตรฐานการรักษาตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และจัดส่งรายงานข้อมูลผู้ป่วยโรคไข่หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ให้สำนักระบาดวิทยา เพื่อเข้าสู่ระบบเดียวกัน ทั้งนี้ขอให้ประชาชนเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ตรงตามสิทธิการรักษา ซึ่งจะไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
ในวันนี้ได้รับรายงานเสียชีวิตที่ยืนยันเพิ่มอีก 1 ราย รวมยอดสะสมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 13 ราย โดยรายที่ 12 อยู่ กทม. เป็นชายอายุ 52 ปี มีประวัติภรรยาและลูกป่วยเป็นไข้หวัดมาก่อน ผู้เสียชีวิตมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผ่าตัดแล้ว และไตวาย ผ่าตัดเปลี่ยนไตเมื่อ 7 ปีก่อน เริ่มป่วยวันที่ 25 มิถุนายน 2552 เข้ารักษาที่ รพ.ตำรวจ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ด้วยอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก แพทย์วินิจฉัยปอดอักเสบรุนแรง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 ยืนยันเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และเสียชีวิต 8 กรกฎาคม 2552 เวลา 19.00 น. สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ขอให้ยึดตามตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการสับสน เนื่องจากในแต่ละวันจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคอื่นๆ ด้วย แต่ในการแยกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ จะพิจารณาจากผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก
สำหรับรายที่ 13 เป็นชาย อายุ 45 ปี ที่อยู่ กทม. เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของผู้เสียชีวิต และจะนำเข้าที่ประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรที่เกี่ยวข้องหรือไม่
ส่วนกรณีที่พบผู้ป่วยหญิง ที่จังหวัดมหาสารคามเสียชีวิต สงสัยจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น ได้รับตัวอย่างจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อทำการตรวจยืนยัน หากได้ผลเป็นประการใดจะได้รายงานให้ทราบต่อไป
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในวันนี้ได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบยืนยันติดเชื้ออีก 211 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน 180 ราย โดยยอดสะสมผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 รวมทั้งหมด 2,925 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 13 ราย
ทางด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ได้เยี่ยมผู้ป่วยที่มีอาการหนักตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่ได้รับรายงาน มีประมาณ 20 ราย จากป่วยทั้งหมด 2,000 กว่าราย หรือประมาณร้อยละ 0.74 อัตราการเสียชีวิตของไทย ร้อยละ 0.4 ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีผู้ป่วยโรคนี้ จากการวิเคราะห์รายละเอียดผู้ป่วยแต่ละรายที่อาการหนัก พบว่ามีประมาณ 15 ราย ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงเสียชีวิตอยู่แล้ว เช่น อ้วน ไตวาย โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง ซึ่งกลุ่มนี้เสียชีวิตไปแล้ว 7 ราย หรือประมาณร้อยละ 50 ส่วนผู้ป่วยที่เหลืออีก 5 ราย ไม่มีโรคประจำตัว แต่เสียชีวิตไปแล้ว 4 ราย เนื่องจากมีประวัติมาพบแพทย์ช้า มาถึงมือแพทย์เมื่อมีอาการหนักมาก ซึ่งข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้ แพทย์จะต้องช่วยกันเพื่อลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ได้ โดยหากแพทย์มีปัญหาในการรักษา สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกระบบของกรมการแพทย์ ที่มีอยู่ประมาณ 30-40 คน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหากจำเป็นก็จะมีทีมเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อดูแลผู้ป่วยให้ได้รับความปลอดภัยที่สุด
************************** 9 กรกฎาคม 2552
View 13
09/07/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ