กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจล่าสุด พบคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 6– 12 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและกลุ่มคนทำงานที่ไม่มั่นคง ป่วยเข้ารักษาปีละกว่า 1 ล้านคน ดึงพลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อสม.ในชุมชน ร่วมเป็นเครือข่ายป้องกัน ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีปัญหา ตั้งเป้าหมายดำเนินการปีนี้กว่า 250 แห่งทั่วประเทศ วันนี้ (13 กรกฎาคม 2552) ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การ บูรณาการงานสุขภาพจิตและจิตเวชโดยเครือข่ายสู่ชุมชน:พลังท้องถิ่นกับสุขภาพจิตไทย โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สำนักอนามัย กทม. นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรสาธารณสุขประจำสถานีอนามัย อสม. และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม 300 คน เพื่อขยายเครือข่ายการพัฒนาสุขภาพจิตในระดับชุมชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายมานิต กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเผชิญกับภาวะบีบคั้นรอบด้าน ทั้งจากวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การปรับตัวจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง ทำให้ประชาชนเกิดความเครียด มีความวิตกกังวลสูง มีอารมณ์แปรปรวน ในรายที่มีอาการสะสมรุนแรงก็จะพัฒนาไปสู่อาการทางจิตหรือฆ่าตัวตายได้ โดยผลสำรวจล่าสุดในปี 2551 พบคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 6–12 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านและรับผิดชอบดูแลบ้านและครอบครัว รวมทั้งผู้ที่ทำงานมีรายได้ไม่แน่นอน เช่น ลูกจ้าง พนักงานบริษัท กรรมกร คนกลุ่มนี้เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต สูงกว่ากลุ่มอื่นถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนร้อยละ 90 เข้าใจผิดคิดว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นผู้ป่วยโรคจิตหรือเป็นคนบ้า และมีความกังวลเมื่ออยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยโรคจิตถูกสังคมรังเกียจและเป็นบุคคลอันตราย ทั้งๆ ที่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีสถิติการก่อคดีเพียงร้อยละ 2-3 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับคดีที่เกิดจากคนปกติ นายมานิตกล่าวว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถรักษาให้หายได้ สามารถใช้ชีวิตและทำประโยชน์ให้สังคมได้เหมือนคนปกติทั่วไป เพื่อป้องกันไม่ให้คนปกติเกิดปัญหาสุขภาพจิต และช่วยเหลือให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในชนบท ให้ได้รับการดูแลจนหายป่วย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายให้กรมสุขภาพจิต เร่งขยายงานสุขภาพจิตและจิตเวชลงสู่ชุมชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อสม. มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมป้องกันและ ดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่คนบ้า แต่เป็นผู้ที่ต้องช่วยกันดูแลช่วยเหลือ ตั้งเป้าหมายขยายลงอบต.ปีนี้ 304 แห่ง ด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเข้ารักษาที่โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 1,300,000 ราย มากที่สุดคือ โรคจิต โรควิตกกังวล อย่างละกว่า 360,000 ราย และ โรคซึมเศร้ากว่า 120,000 ราย กรมสุขภาพจิตได้เริ่มโครงการบูรณาการงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตลงสู่ชุมชน ตั้งแต่ปี 2549 โดยพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาความรู้อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เรื่องการส่งเสริมสุขภาพจิตของคนในชุมชน การค้นหาให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีอาการทางจิต การจัดการความเครียดตั้งแต่เริ่มมีปัญหา ผลการดำเนินงานถึงปี 2551 มีอบต.เข้าร่วมโครงการ 1,672 แห่ง และประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถจัดการความเครียดได้อย่างเหมาะสม ร้อยละ 93 และมีชุมชน 3,478 แห่ง ที่ยอมรับและให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีอาการทางจิตในชุมชนได้อย่างทันท่วงที ************************************ 13 กรกฎาคม 2552


   
   


View 14    13/07/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ