กระทรวงสาธารณสุข เสริมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทย์ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ยกเป็นวาระแห่งชาติด้านการแพทย์ พร้อมเดินสายออกให้การช่วยเหลือทีมแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่อาการหนัก ร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ทั้งรัฐและเอกชน และผู้ตรวจราชการ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมขยายสายด่วนไข้หวัดใหญ่ฯ เพิ่มทางหมายเลข 1422 บริการ 24 ชั่วโมง นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 – 14 กรกฎาคม 2552 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ รวมทั้งสิ้น 4,057 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมทั้งหมด 24 ราย เฉพาะในวันนี้ได้รับรายงานผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ฯ เพิ่ม 176 ราย เสียชีวิต 3 ราย ดังนี้ รายแรกอยู่ในกทม. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2552 เป็นหญิงอายุ 57 ปี มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวานมานานกว่า 3 ปี น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม เริ่มป่วยเมื่อ 5 กรกฎาคม 2552 และเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ด้วยอาการไอ หอบเหนื่อย เจ็บคอ ผลการเอ็กซเรย์ปอดพบปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 67 ปี อยู่กทม. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2552 ด้วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เริ่มป่วยวันที่ 5 กรกฎาคม 2552 เข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 ผลการเอ็กซเรย์ปอดพบปอดบวม แพทย์ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ และให้ยาปฏิชีวนะ แต่อาการไม่ดีขึ้น รายที่ 3 เป็นหญิงอายุ 32 ปี อยู่จังหวัดสมุทรสาคร เสียชีวิตเช้าวันนี้ (14 กรกฏาคม 2552) มีน้ำหนักตัว 120 กิโลกรัม มีประวัติเป็นโรคหอบหืด เริ่มป่วย 5 กรกฎาคม 2552 เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2552 ด้วยอาการไข้ ไอ หอบ ผลเอ็กซเรย์พบปอดบวม สำหรับผู้เสียชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเด็กชายอายุ 7 เดือน เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 มีอาการปอดบวม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ขณะนี้จัดอยู่ในข่ายผู้ป่วยสงสัย ยังไม่ยืนยันว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯหรือไม่ ต้องรอผลการตรวจชันสูตรศพ จะทราบผลในเร็ว ๆ นี้ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้มีน้อยที่สุด ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จัดเสริมทีมผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น เพื่อออกไปช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการวิกฤติในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศเป็นการเฉพาะ ร่วมกับผู้ตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 19 เขตและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัดกว่า 100 แห่ง ซึ่งคณะแพทย์ทุกคนยินดีให้ความร่วมมือช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และยกเป็นวาระแห่งชาติทางการแพทย์ พร้อมที่จะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เนื่องจากในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่มีอาการหนักอยู่ในภาวะวิกฤติหลายรายสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ เช่นรายของหญิงวัย 81 ปีที่จังหวัดพิจิตร และรายหญิงวัย 57 ปีที่ปอดบวม 2 ข้าง และมีปัญหาหลอดลมฉีกขาดก็หายเป็นปกติแล้ว - ทั้งนี้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวประกอบด้วย แพทย์ด้านโรคปอด โรคติดเชื้อและแพทย์เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤติ แบ่งการทำงานดังนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลดูแลภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่จังหวัดนครปฐมถึงประจวบคีรีขันธ์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูแลภาคตะวันออกทั้งหมด คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดีดูแลส่วนภาคเหนือ เริ่มจากสระบุรีถึงนครสวรรค์ คณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นเรศวร เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ ดูแลในพื้นที่ใกล้เคียง และยังมีคณะแพทย์จากวชิระพยาบาล กทม. และกองทัพบก ที่จะให้การสนับสนุนร่วมทีมดูแลผู้ป่วยด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ประชาชนมีความต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัวจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายบริการสายด่วนบริการตอบข้อสงสัยประชาชนเพิ่มจากหมายเลข 0 2590 3333 อีก 1 หมายเลข คือ 1422 จำนวน 10 คู่สาย ให้บริการ 24 ชั่วโมง สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุใหม่ใน 136 ประเทศ รวม 94,512 ราย เสียชีวิต 429 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.45 ประเทศที่มีรายงานตายมากที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา 170 ราย เม็กซิโก 119 ราย อาเจนติน่า 60 ราย แคนาดา 25 ราย


   
   


View 8    14/07/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ