กระทรวงสาธารณสุข ประชุมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไข้หวัดใหญ่ ปรับปรุงแนวทางการรักษา การให้ยาต้านไวรัส การแบ่งพื้นที่จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกช่วยดูแลผู้ป่วยหนัก พร้อมย้ำผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทุกคนต้องหยุดพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายดี เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ มอบผู้ตรวจราชการประสานพัฒนาการจังหวัด ให้แม่บ้านจัดทำหน้ากากอนามัยชนิดผ้าคุณภาพดีจำหน่าย นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญแพทย์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หารือแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 และจะได้ชี้แจงไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งแนวทางการให้ยาต้านไวรัส การรักษาพยาบาล ถ้าพบผู้ป่วยอาการหนัก คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จะแบ่งพื้นที่ส่งทีมออกไปช่วยดูแล นอกจากนี้จะได้หารือแนวทางการปฎิบัติตัวของประชาชนให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ ว่า หลังจากนี้คนไทยควรปฎิบัติอย่างไร โดยสิ่งที่นักวิชาการเห็นตรงกันก็คือ คนที่ป่วยต้องหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน จนหายป่วย เมื่อหายป่วยแล้วจึงไปทำงาน เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ “สิ่งที่อยากรณรงค์ในวันนี้ก็คือเรื่องหน้ากากอนามัย อยากให้ใช้ชนิดทำจากผ้า ซึ่งทำได้ง่ายและแม่บ้านทำเองก็ได้ วันนี้คนไทยควรมีหน้ากากผ้าคนละ 2 ชิ้น ใส่แล้วซัก นำมาใช้ใหม่ได้ ถ้าเราซื้อใช้แบบกระดาษ เปียกชื้นก็ต้องทิ้ง ในหนึ่งวันอาจต้องใช้ 1-2 ชิ้น ทำให้สิ้นเปลืองมาก เพราะเราต้องอยู่กับไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ฯ จนกว่าจะมีวัคซีน การใช้หน้ากากผ้าจะประหยัด”นายมานิตกล่าว นายมานิตกล่าวต่อไปอีกว่า ได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประสานกับพัฒนาการจังหวัด เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านโอท็อปแต่ละจังหวัด ทำหน้ากากผ้าออกจำหน่าย เนื่องจากหน้ากากชนิดผ้ามีใช้ในวงการแพทย์มานานกว่า 30-40 ปีแล้ว โดยในการเลือกชนิดผ้าทำหน้ากากที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ให้ประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดนั้นๆ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย สำหรับการนำเสนอตัวเลขผู้ป่วย คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้กำหนดให้นำเสนอสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุกวันพุธ เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาการคลาดเคลื่อนของตัวเลขผู้ป่วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐ เอกชนในประเทศไทย หากไม่ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนก็จะเกิดปัญหาได้ และวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่กระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งตัวเลขผู้ป่วย ส่วนที่กังวลว่า การรายงานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตัวเลขอาจจะสูงมากนั้น มั่นใจว่าขณะนี้ประชาชนเข้าใจว่าตัวเลขผู้ป่วย กับตัวเลขการส่งตรวจเชื้อทางห้องปฎิบัติการแตกต่างกัน เพราะเป็นการสุ่มตรวจตามหลักวิชาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อดูการแพร่กระจายเชื้อในแต่ละชุมชน รวมทั้งการเฝ้าระวังการดื้อยาและติดตามพฤติกรรมของเชื้อด้วย ******************************* 15 กรกฎาคม 2552


   
   


View 16    16/07/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ