รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยอาการหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือนและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ฯ หลังผ่าตัดคลอดรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ วันนี้อาการทรงตัว ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ครบ ไม่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แล้ว แต่พบปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย วันนี้ (27 กรกฎาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเยี่ยมอาการหญิงอายุ 24 ปี น้ำหนัก 115 กิโลกรัม ตั้งครรภ์ 7 เดือนและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ซึ่งแพทย์ รพ.ราชบุรี ผ่าตัดช่วยคลอด และส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2552 ว่า ในวันนี้ ผู้ป่วยอาการทรงตัว ยังคงอยู่ในห้องไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หลังจากได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ครบ ผลการตรวจเชื้อซ้ำไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯแล้ว แต่พบเชื้อแบคทีเรียชนิดเชื้อรุนแรง ผลเอกซเรย์ปอดยังไม่ดีขึ้น แพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด สำหรับอาการของลูกซึ่งรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี วันนี้ได้รับรายงานว่าอาการดีขึ้น ตรวจไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แล้ว แต่แพทย์ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวเพียง 1,500 กรัม นายมานิต กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งให้การดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทุกรายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ โดยขอให้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการคลุกคลีอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด หรือหากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะในที่ชุมนุมชน จะต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และล้างมือบ่อย ๆ โดยหากป่วยเป็นไข้ แม้จะไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ก็ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อจะได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์หากพบเข้าข่ายเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ซึ่งยานี้สามารถให้ได้แม้จะอยู่ในระยะตั้งครรภ์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม จะนำประวัติของผู้ป่วยรายนี้ ให้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศึกษาวิเคราะห์ หาสาเหตุการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กระจายยาต้านไวรัสให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ครอบคลุมถึงโรงพยาบาลชุมชนแล้ว โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 แห่งทั่วประเทศ มีแห่งละ 20,000 เม็ด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด แห่งละ 5,000 เม็ด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แห่งละ 2,000 เม็ด และโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 300 เม็ด นายมานิต กล่าว ************************************* 27 กรกฎาคม 2552


   
   


View 12    27/07/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ