กระทรวงสาธารณสุข พร้อมประกาศใช้ 10 ภาพคำเตือนภัยบุหรี่ ให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าบุหรี่พิมพ์บนซอง มีผลบังคับใช้ 29 มีนาคม 2553 และเตรียมออกกฎหมายเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานีขนส่งทุกประเภท เพื่อคุ้มครองสุขภาพคนไม่สูบบุหรี่จากพิษควันบุหรี่มือสอง วันนี้ (2 ตุลาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ความคืบหน้ามาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย ว่า จากการประเมินผลการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทยในปี 2550 พบว่า มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ อัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไปยังสูงกว่าร้อยละ 40 ส่วนจำนวนผู้เลิกสูบบุหรี่แม้จะสูงถึงร้อยละ 18 แต่ก็มีนักสูบหน้าใหม่ทดแทนที่เป็นวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น ที่น่าตกใจ คือ ร้อยละ 69 ของผู้สูบบุหรี่เยาวชนหญิง อายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 14 ปี จึงต้องปรับมาตรการให้เข้มข้นเพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ รวมทั้งคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่จากพิษควันบุหรี่มือสอง นายมานิตกล่าวต่อว่า ในปี 2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มบังคับใช้การพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ใหม่ จำนวน 10 ภาพ และมีข้อความคำเตือน เช่น สูบแล้วถุงลมพองตาย ควันบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็ง 10 ชนิด สูบแล้วเป็นมะเร็งปอดตาย ควันบุหรี่ฆ่าคนใกล้ชิด สูบแล้วเส้นเลือดสมองตีบตาย เป็นต้น และทุกภาพคำเตือน มีการแสดงข้อความ “เลิกบุหรี่ โทร. 1600” เพื่อให้คำแนะนำแก่นักสูบที่อยากเลิกสูบบุหรี่ด้วย และเพิ่มพื้นที่แสดงฉลากภาพคำเตือนจากร้อยละ 50 เป็น 55 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน คือวันที่ 29 มีนาคม 2553 ซึ่งจะทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าบุหรี่ เพื่อเตรียมพร้อมการปฏิบัติตามกฎหมายแต่เนิ่น โดยทุกบริษัทที่ผลิตหรือนำเข้าบุหรี่สามารถขอรับต้นฉบับภาพคำเตือนชุดใหม่ ได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่จะปรับปรุงกฎหมายให้มีผลกว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ การเพิ่มสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ให้มากขึ้น เช่น โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน สถานีขนส่งทุกประเภท และผลักดันนโยบายการห้ามอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบของรัฐบาล และการควบคุมการค้ายาสูบหนีภาษี เพื่อให้เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) รวมทั้งผลักดันแผนควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ปี 2553 – 2556 เข้าสู่คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ เพื่อขยายผลให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป นายมานิตกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ (Towards 100 % smoke-free environment) ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ซึ่งได้พัฒนาเครือข่ายสนับสนุนและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบนำร่อง 20 จังหวัดใน 4 ภาค ได้แก่ ปทุมธานี ชัยนาท อ่างทอง นครปฐม นครนายก นครราชสีมา ชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย เชียงใหม่ น่าน ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และตรัง และกรุงเทพมหานคร และเร่งการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ รวมทั้งให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องการกระทำความผิดการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบ และการจำหน่ายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ร่วมไปด้วย ********************* 2 ตุลาคม 2552


   
   


View 9    02/10/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ