กระทรวงสาธารณสุข ส่งยาสามัญประจำบ้านให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ใน 15 จังหวัด รวมเกือบ 2 แสนชุด ให้ทุกจังหวัดจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการฟรีต่อเนื่อง เผยในรอบ 10 วันมีผู้เจ็บป่วยแล้ว 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านไปให้ 15 จังหวัด คือศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยนาท ตาก นครราชสีมา สุโขทัย กาฬสินธุ์ และกำแพงเพชร รวม 192,000 ชุด เพื่อใช้ในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดยได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการตรวจรักษาประชาชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง จะมีหน่วยแพทย์กู้ชีพเดินทางไปให้การดูแลช่วยเหลือถึงที่ ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในรอบ 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2552 จนถึงวันนี้ มีผู้ป่วยจากน้ำท่วมรวม 1,200 กว่าคน เช่น ที่จังหวัดลำพูน มีผู้ป่วย 217 ราย จ.อุบลราชธานีพบผู้ป่วยประมาณ 600 ราย โรคที่พบมากที่สุด ได้แก่ น้ำกัดเท้า รองลงมาคือผื่นคัน ไข้หวัดทั่วไป ยังไม่มีผู้ป่วยอาการรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาลแต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้ให้ 9 จังหวัดในภาคกลางที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม ได้แก่ อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา สมุทรปราการ และ กทม. โดยให้สถานพยาบาลต่าง ๆ สำรวจและขนย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ให้อยู่ในที่ปลอดภัย น้ำท่วมไม่ถึง และเตรียมสำรองเครื่องปั่นไฟเพื่อไม่ให้มีผลกระทบการบริการผู้ป่วย เช่น การผ่าตัด เครื่องช่วยหายใจ เครื่องซักอบผ้าเครื่องใช้ของผู้ป่วย เครื่องอบฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลอ่างทอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมทุกปี ในส่วนของโรงพยาบาลได้ทำคันกั้นน้ำ ไม่มีปัญหาน้ำท่วมมา 3 ปีแล้ว ในด้านการเตรียมการรับมือช่วยเหลือประชาชน ได้เตรียมเรือพยาบาลติดเครื่องยนต์ 2 ลำ และเรือท้องแบนสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วมอีก 33 ลำ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็ว 3 ทีมพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ป่วย สำรองยาและเวชภัณฑ์ไว้อย่างเพียงพอ และสำรองเตียงรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนไว้ส่วนหนึ่งหากมีน้ำท่วมหนักไม่สามารถเปิดให้บริการได้ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สิ่งที่น่าห่วงคืออาหารบริจาคโดยเฉพาะอาหารกระป๋อง ขอให้ดูวันหมดอายุ และสภาพกระป๋องให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบ หรือพอง ซึ่งแสดงถึงการเน่าเสียภายในกระป๋อง หากนำมาบริโภคก็จะเป็นพิษ โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล เพราะอาจมีเชื้อพวกคลอสตริเดียม โบตูลินัม (Clostriduim botulinum) ซึ่งจะสร้างสารพิษที่มีผลต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการกลืนอาหารลำบาก ม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว ระบบหายใจเป็นอัมพาตถึงเสียชีวิตได้ ******************************************** 8 ตุลาคม 2552


   
   


View 11    08/10/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ