สาธารณสุข เผยพิษน้ำท่วม มีผู้ป่วยแล้วกว่า 4,000 ราย สำรองงบ 30 ล้านบาท ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม และสำรองเซรุ่มแก้พิษงูในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในจังหวัดภาคกลาง เน้นเซรุ่มแก้พิษงูที่พบมาก 3 ชนิดได้แก่งูเห่า งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ เพิ่มขึ้นเท่าตัว แนะประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆ หลีกเลี่ยงใกล้ต้นไม้ หรืองดปีนต้นไม้ขณะมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากอาจถูกงูพิษกัดได้ วันนี้ (9 ตุลาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่วัดศรีกุก ต.ตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา โดยได้มอบยาตำราหลวงจำนวน 5,000 ชุด พร้อมด้วยรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้าและโรคฉี่หนู จำนวน 1,000 คู่ นายวิทยากล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายจังหวัดขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาตำราหลวง ไปให้จังหวัดต่างๆที่ประสบภัยแล้ว 19 จังหวัด รวมกว่า 5 แสนชุด มูลค่ากว่า 19 ล้านบาท และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลทั้งโรคทั่วไปที่มากับน้ำท่วม และดูแลด้านสุขภาพจิตไปพร้อมๆกัน พบผู้ป่วยแล้ว 4,191 ราย ส่วนใหญ่เป็นผื่นคัน น้ำกัดเท้า พบมีความเครียดร้อยละ 4 ขณะนี้ได้สำรองงบไว้อีก 30 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ต่างๆ ให้ผู้ประสบภัยอย่างเพียงพอ สำหรับจังหวัดในภาคกลาง ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง สำรองเซรุ่มแก้พิษงูไว้ เนื่องจากสภาพน้ำท่วมขังอาจยาวนาน โดยเพิ่มเซรุ่มงูที่พบบ่อยได้แก่ งูเห่า งูแมวเซา และงูเขียวหางไหม้ “ขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หากไม่จำเป็นขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้ไม่ควรปีนต้นไม้เล่น เนื่องจากงูมักจะหนีน้ำขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ หากเป็นงูเขียวหางไหม้ สีจะกลมกลืนกับใบไม้มาก ในช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผู้ถูกงูพิษกัด 5-6 ราย แต่ไม่มีใครเสียชีวิต” นายวิทยากล่าว ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประเมินสภาพน้ำท่วมขังที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าระบบประปายังใช้การได้ แต่สิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนคือห้องน้ำใช้การไม่ได้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแจกถุงดำเพื่อใส่อุจจาระและขยะ 10,000 ใบ เพื่อลดความสกปรกของน้ำ ส่วนปัญหาสุขภาพประชาชน โดยเริ่มพบโรคตาแดงจำนวน 13 ราย เนื่องจากติดเชื้อจากน้ำใช้ที่ไม่สะอาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทำการควบคุมโรคเพื่อไม่ให้มีการระบาดเพิ่มในวงกว้าง และในวันที่ 12-13 ตุลาคมนี้ กรมอนามัยจะประเมินสภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นประจำและยาวนาน ในส่วนสถานบริการสาธารณสุข มีสถานีอนามัยถูกน้ำท่วม 4 แห่งอยู่ใน อ.บางบาล 3 แห่ง ได้แก่ สถานีอนามัยตำบลวัดตะกู สถานีอนามัยตำบลบางหัก และสถานีอนามัยตำบลบางหลวงโดด น้ำท่วมอาคารชั้นล่างและบ้านพักเจ้าหน้าที่ ระดับสูง 50-70 เซนติเมตร แนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และที่ อ.บางปะอินท่วมที่สถานีนามัยตำบลบ้านแป้ง ระดับน้ำสูง 30 เซนติเมตร แต่ยังให้บริการได้ตามปกติ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าไว้ 20,000 ตลับ เนื่องจากภาวะน้ำท่วมขังอาจกินระยะเวลานาน โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนอาจเกิดปัญหาเท้าเปื่อยจากน้ำกัดเท้ามากขึ้น ******************************* 9 ตุลาคม 2552


   
   


View 9    09/10/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ