ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจสอบเบื้องต้นโครงการไทยเข้มแข็งสธ. พบมีบางรายการต้องปรับ เช่น การสร้างอาคารที่มีแบบแปลนมาตรฐาน รายการครุภัณฑ์ที่พื้นที่ต้องการจริง ให้ผู้ตรวจราชการทั้ง18 เขตประชุมผู้บริหารในพื้นที่ซ้ำอีก ส่วนผลการสอบครุภัณฑ์ 7 รายการที่มีข่าวล็อคสเปค พบว่ามีมูลจริงบางรายการเท่านั้นใน 7,400 รายการ มีข้าราชการระดับผู้อำนวยการสำนักเกี่ยวข้องด้วย ต้องสอบรายละเอียดเชิงลึกต่อ ส่วนในด้านราคาครุภัณฑ์พบว่าบางรายการแพงเกินความจำเป็น จะให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบซ้ำ พื้นที่ได้งบเกินความพอเหมาะ จะมีการปรับลดและเกลี่ยงบให้สถานบริการอื่นๆ วันนี้ (13 ตุลาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้อำนวยการโครงการไทยเข้มแข็ง นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผลการตรวจสอบเบื้องต้นโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า วันนี้ได้ประชุมคณะทำงาน 2 ชุด ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2553-2555 ของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 86,000 ล้านกว่าบาท ให้เป็นไปด้วยความสุจริตประชาชนได้ประโยชน์จริง คือชุดตรวจสอบรายการครุภัณฑ์ 7 รายการในจำนวน 7,400 รายการที่เป็นปัญหาว่าจะมีการล็อคสเปคและบางพื้นที่ไม่ต้องการจริง เช่น เครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตรา ไวโอเล็ต หรือยูวีแฟน เครื่องดมยาสลบ เครื่องติดตามการทำงานหัวใจ มีนายแพทย์เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการเป็นประธาน ชุดที่ 2 ได้แก่ ชุดตรวจสอบความเหมาะสมของรายการที่ขอ 7,400 รายการทั้งราคา ความเหมะสมกับพื้นที่มีรองปลัดกระทรวง เป็นประธาน จากรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ในส่วนผลการดำเนินการของผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 18 เขต ได้ข้อสรุปว่า ส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของรายการเป็นไปตามเดิม แต่จะมีการดำเนินการต่อ 2 เรื่อง ได้แก่การปรับปรุงบางรายการ เช่น การก่อสร้างรายการที่มีแบบมาตรฐาน โดยจะเชิญสภาวิศวกรรม หรือหน่วยงานอื่นๆที่เชื่อถือได้ ร่วมตรวจสอบกับกองแบบแผนของกระทรวงสาธารณสุข และปรับปรุงครุภัณฑ์บางรายการที่พื้นที่ต้องการจริง และดูความเหมาะสมของราคา ภายในวงเงินเท่าเดิม โดยจะให้ผู้ตรวจราชการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นจากพื้นที่ในช่วง 2-3 วันนี้ เพื่อให้พื้นที่มีส่วนร่วมในการทบทวนและตัดสินใจบนความจำเป็นและเหมาะสมอีกครั้ง นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในส่วนผลของตรวจสอบรายการครุภัณฑ์ 7 รายการ ที่มีข่าวว่าจะมีการล็อคสเปค เอื้อประโยชน์คนบางกลุ่ม ผลการสอบขณะนี้บอกได้แต่เพียงว่า มีข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่ในระดับผู้อำนวยการสำนักมีส่วนเกี่ยวข้อง และได้อ้างว่ามีข้าราชการเกษียณเกี่ยวข้องเช่นกัน แต่ไม่สามารถระบุชื่อได้ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย มีการฟ้องร้องได้ เนื่องจากเป็นเพียงผลตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเท่านั้น ว่ามีผู้เกี่ยวข้องกี่คน และเกี่ยวข้องในประเด็นใด จะต้องสอบลงลึกในรายละเอียดต่อ ซึ่งผลการสอบเขาอาจจะไม่ผิดก็ได้ หากลงรายละเอียดเชิงลึกแล้ว สำหรับผลการสอบของคณะกรรมการชุดความเหมาะสม ขณะนี้ได้ตรวจสอบไปแล้วประมาณร้อยละ 30 เนื่องจากมีรายการคำขอจำนวนมากถึง 7,400 รายการ ผลการตรวจพบว่า บางรายการมีราคาสูงเกินความจำเป็น ต้องมีการปรับลดวงเงิน โดยเฉพาะครุภัณฑ์บางรายการ ทั้งนี้ในหลักการทำงาน จะเดินหน้าต่อ โดยในรายการครุภัณฑ์ระดับสูง และมีราคาแพง จะเชิญผู้เชี่ยวชาญสาขานั้นๆมาร่วมพิจารณาราคาและความเหมาะสมกับโรงพยาบาล ส่วนในด้านการกระจายโอกาสการพัฒนาของสถานบริการ จะให้มีการปรับในส่วนของพื้นที่ที่ได้มากเกินความจำเป็น เพื่อนำไปเกลี่ยให้พื้นที่ยังไม่ได้ เพื่อให้การพัฒนาเกิดประโยชน์กับประชาชนทุกพื้นที่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ขณะนี้งบในโครงการไทยเข้มแข็งที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับ 86,000 กว่าล้านบาท ยังไม่มีการใช้แต่อย่างใด กระทรวงสาธารณสุขจะบริหารจัดการงบก้อนนี้ ด้วยความรอบคอบ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์และมีความโปร่งใส ให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและพัฒนาคุณภาพสถานบริการ ซึ่งงบก้อนแรกที่จะมีการใช้ก่อนในปีงบประมาณ 2553-2555 นี้ เป็นงบจากพระราชกำหนดเงินกู้ (พรก.) วงเงิน 11,515 ล้านบาทเศษ ใน 18 โครงการ แบ่งเป็นงบพัฒนาโครงสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป พัฒนาศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง เครือข่ายควบคุมการบาดเจ็บ งานบริการผู้สูงอายุ วงเงิน 9,949 ล้านบาท งบผลิตและพัฒนาบุคลากรการแพทย์ 494 ล้านบาท งบลงทุนระดับชุมชน วงเงิน 1,070 ล้านบาท 8 โครงการ เช่นการแก้ปัญหาสุขภาพใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น การลดอัตราตายแม่และเด็ก งานเฝ้าระวังการขาดสารอาหารในเด็ก แก้ไขปัญหาวิกฤติสุขภาพจิต โดยจะเริ่มใช้ในปี 2553 วงเงิน 8,227 ล้านบาท ขณะนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ได้ชะลอโครงการใช้เงินไว้ก่อน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมทั้งหมด ส่วนงบก้อนที่ 2 เป็นงบจากพระราชบัญญัติเงินกู้ วงเงินกว่า 60,000 ล้านบาท อยู่ในขั้นของการปรับรายละเอียดการใช้เงินทั้งจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ การก่อสร้าง รวม 7,400 รายการ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินแต่อย่างใด จึงยังไม่มีการใช้เงินแต่อย่างใด ***************************** 13 ตุลาคม 2552


   
   


View 8    13/10/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ