กระทรวงสาธารณสุข เตือน เด็ก ผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ ให้ระมัดระวังกินเจ ควรกินระยะสั้น ๆ เพราะเสี่ยงขาดสารอาหาร ควรดื่มนมสด หรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมรวมทั้งผักผลไม้สด เพิ่มวิตามิน ด้านรองอธิบดีกรมอนามัยแนะการกินเจ ควรกินผักสดเพิ่มวิตามิน พร้อมแนะวิธีล้างผักผลไม้ให้ปลอดสารพิษตกค้าง
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงานเทศกาลกินเจ ปี 52 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อเช้าวันนี้ (17 ตุลาคม 2552) ว่า ในช่วงวันที่ 18-26 ตุลาคม2552 จะเป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ซึ่งปัจจุบันมีผู้นิยมกินอาหารประเภทนี้มากขึ้นทั้งกินเพื่อสุขภาพและกินเพื่อถือศีล อาหารเจโดยทั่วไป มีส่วนประกอบหลักคือธัญพืชจำพวก ถั่ว งา ผักและผลไม้ 5 สี ได้แก่ ขาว ดำ แดง เขียว เหลือง งดพวกอาหารหมักดอง ละเว้นเนื้อสัตว์
นายมานิต กล่าว่า ในการกินเจ ต้องเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมตามวัย อายุ และสภาพร่างกาย เพราะอาจมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยกลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการกินเจ เป็นกรณีพิเศษ ได้แก่กลุ่มเด็ก คนป่วยและหญิงตั้งครรภ์ ควรกินระยะสั้นๆ ในช่วงถือศีลเจ 9 วัน เนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่าคนปกติทั่วไป จึงเสี่ยงขาดสารอาหารได้ ในการกินเจ ต้องกินอาหารอื่นให้ครบ 5 หมู่ โดยให้ดื่มนมสด หรือนมถั่วเหลือง เพิ่มโปรตีนและแคลเซียมด้วย รวมทั้งกินผักสดและผลไม้ เพิ่มวิตามินให้ร่างกาย ในกรณีของเด็ก หากต้องกินเจต่อเนื่องเป็นระยะยาวหรือตลอดไป จะต้องดื่มนมและกินไข่ด้วย เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารที่จำเป็นในการเจริญเติบโต
ทางด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ที่ถือศีลกินเจ ต้องระวังเรื่องการปรุงอาหารไม่ให้มันมาก เนื่องจากอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว อาหารเจทั่วไป ถ้าเป็นผักจะนำมาต้มจนเปื่อย และอุ่นซ้ำบ่อยๆทำให้สูญเสียวิตามิน ควรกินผักสด และผลไม้ตามด้วยทุกมื้อเพื่อให้ได้วิตามินที่เพียงพอ สำหรับผู้ที่กินเจตลอดปี ให้ระวังเรื่องการขาดธาตุเหล็ก ควรกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตามที่สำคัญที่สุดคือต้องกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
สำหรับในกลุ่มของประชาชนที่ต้องการกินเจเพื่อสุขภาพ มีข้อแนะนำดังนี้ 1.ต้องกินผักและผลไม้สดด้วย 2.ต้องระวังการกินอาหารที่มีไขมันมาก 3.ต้องระวังอาหารที่มีรสเค็มจัด 4.ต้องมั่นใจในวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารเจว่าเป็นโปรตีนจากพืช ไม่ใช่แป้ง และ 5.ต้องล้างผักและผลไม้เพื่อลดสารพิษตกค้าง
ทั้งนี้ การลดสารพิษตกค้างในผักผลไม้มีหลายวิธี ได้แก่การล้างน้ำผักในน้ำไหลนาน 2 นาที จะลดสารพิษได้ ร้อยละ 54-63 ล้างด้วยผงฟูในอัตราผงฟู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 อ่าง แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จะลดสารพิษลงได้ร้อยละ 90-95 หรือแช่ในน้ำสะอาด นาน 15 นาที ช่วยลดสารพิษลงได้ร้อยละ 7-33 นอกจากนี้อาจล้างด้วยน้ำผสมด่างทับทิม ประมาณ 20-13 เกล็ด ต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 10 นาที แล้วล้างน้ำตาม จะลดสารพิษลงได้ร้อยละ 50 การล้างด้วยน้ำเกลือเข้มข้นร้อยละ 50 โดยใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 2 นาที จะลดสารพิษลงร้อยละ 34 หากล้างด้วยน้ำส้มสายชู โดยใช้น้ำส้มสายชู 1 ขวด ต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จะลดสารพิษลงได้ร้อยละ 60-84
******************************** 17 ตุลาคม 2552
View 12
17/10/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ