สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระเมตตาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งขณะนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ปีๆละประมาณ 50,000 ราย พระราชทานเครื่องฉายรังสีทันสมัย มูลค่า 60 ล้านบาทให้ศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ประสิทธิภาพรักษาเครื่องนี้สูงมาก ให้ผลแม่นยำ ผลแทรกซ้อนต่ำ
เย็นวันนี้(9 มกราคม 2550) เวลา 17.00 น. นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายพินิจ จารุสมบัติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ธนเดช สินธุเสก ผู้อำนวยการศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี เข้าเฝ้ารับพระราชทานเครื่องฉายรังสี จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ วังศุโขทัย เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง ที่ศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี รวมมูลค่า 60 ล้านบาท เครื่องฉายรังสีที่ได้รับพระราชทานครั้งนี้ นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งมาก ที่จะได้รับการดูแลรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย
เครื่องฉายรังสีชุดนี้ เป็นชนิดเครื่องเร่งอนุภาคชนิด 2 พลังงาน และให้ลำรังสีอิเลคตรอน มีส่วนประกอบของเครื่อง 2 ส่วนได้แก่ เครื่องปรับลำรังสีด้วยคอมพิวเตอร์ และเครื่องคำนวณการฉายรังสีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง การทำงานมีความแม่นยำและมีความปลอดภัยสูงต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ลดผลแทรกซ้อนการถูกทำลายของเนื้อเยื่อปกติ ทำให้อวัยวะต่างๆถูกทำลายลดลงกว่าเครื่องฉายรังสีแบบเก่า โดยเครื่องจะปล่อยอนุภาคอิเลคตรอน ซึ่งเป็นพลังงาน เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งเป็นการเฉพาะ ไม่ทำลายอวัยวะปกติที่อยู่ลึกลงไปหรือบริเวณโดยรอบ และแพทย์สามารถใช้เครื่องดังกล่าวฉายแสงระหว่างการผ่าตัดมะเร็งบางชนิดได้เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมน้ำลาย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำการติดตั้งและคาดว่าจะให้บริการได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้โรคมะเร็งเป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานในรอบ 2 ปีมานี้ มีชาวโลกเสียชีวิตปีละ 8 ล้านราย หรือร้อยละ 13 จากผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากทุกโรค 58 ล้านราย มะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ มะเร็งปอดปีละ 1.3 ล้านราย รองลงมาได้แก่ มะเร็งกระเพาะอาหารปีละ 1 ล้านราย มะเร็งตับปีละ 6 แสน 6 หมื่นกว่าราย มะเร็งลำไส้ใหญ่ ปีละ 6 แสน 5 หมื่นกว่าราย และมะเร็งเต้านมปีละ 5 แสนกว่าราย โดยร้อยละ 70 ของผู้เสียชีวิต อยู่ในประเทศที่มีสถานะเศรษฐกิจต่ำถึงปานกลาง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย คาดว่าอีก 8 ปี จะมีคนตายจากโรคมะเร็งเพิ่มเป็นปีละ 9 ล้านราย
ในส่วนของประเทศไทย พบว่า ขณะนี้ โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุคนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 นำหน้าโรคอื่นๆ ติดต่อเป็นปีที่ 6 ปีละประมาณ 50,000 ราย คิดเป็นอัตรา 80 ต่อประชากร 1 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นชายร้อย ละ 60 เพิ่มจากพ.ศ. 2537 ประมาณ 2 เท่าตัว แนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยู่ระหว่างรักษาในต่างจังหวัดไม่รวมกทม.ปีละประมาณ 5 แสนราย การรักษาโรคมะเร็ง
บางโรคหากพบในระยะเริ่มแรกที่เซลล์ยังไม่ลุกลาม จะมีโอกาสหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในกลุ่มนี้พบเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในรายที่เซลล์ลุกลามจะต้องใช้วิธีฉายแสงเพิ่มด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขยายศูนย์รักษาโรคมะเร็ง บริการทั้งการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัดและการฉายแสง ในต่างจังหวัดแล้ว 7 แห่งใน 7 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี ลพบุรี สุราษฎร์ธานี ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ส่วนในกทม.มี 2 แห่งคือ ที่โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และในอีก 2-3 ปี มีนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ ให้สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ด้วย เพราะผู้ป่วยมะเร็งร้อยละ 60 อยู่ในชนบท
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งใช้เวลาก่อตัวหลายปี และค่อยๆแสดงอาการผิดปกติ ขอให้ประชาชนสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง หากมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1.มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย อุจจาระเป็นสีดำหรือปัสสาวะเป็นสีเลือด 2. กลืนอาหารลำบากหรือมีอาการเสียด แน่นท้อง 3. มีอาการเสียงแหบ และไอเรื้อรัง 4.มีเลือดหรือตกขาวที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น 5.มีแผลเรื้อรังซึ่งรักษาแล้วไม่ยอมหาย 6.มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย 7.มีก้อนที่เต้านมหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย 8. มีอาการหูอื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาการอื่นๆ ที่สงสัยหรือไม่แน่ใจ ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่านิ่งนอนใจว่าไม่เป็นอะไร หากปล่อยไปเรื่อยๆจะหมดโอกาสรักษาหายขาด
ทางด้านนายแพทย์ธนเดช สินธุเสก ผู้อำนวยการศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี กล่าวว่า การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ศูนย์ธัญบุรีนี้ ใช้แบบผสมผสานระหว่างการผ่าตัด การฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ต่อปีให้บริการผู้ป่วยมะเร็ง 1,400 ราย ผู้ป่วยมะเร็งที่พบมากที่สุด อันดับ1. ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก รองลงมาคือ มะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่เข้ารักษามักอยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งลุกลามออกไปแล้ว ทำให้มีโอกาสหายขาดน้อยกว่าเมื่อมาในระยะต้น โดยต่อปีมีการฉายรังสีรักษาได้ 660 ราย ซึ่งหลังจากที่ได้รับพระราชทานเครื่องฉายรังสีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้วจะสามารถให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ปีละประมาณ 1,000 ราย หลักสำคัญในการใช้รังสีรักษาโรคมะเร็งคือ ให้เกิดการทำลายเซลล์มะเร็งในบริเวณที่ฉายรังสีมากที่สุด โดยพยายามหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนจากการฉายรังสี หากหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากต้องใช้รังสีปริมาณสูง ก็ให้มีผลแทรกซ้อนน้อยที่สุด
มกราคม ******************************* 9 มกราคม 2550
View 7
09/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ