กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบ 500 ล้านบาท จัดโครงการพัฒนาคุณภาพเด็กไทย เป็นของขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2550 โดยดูแลทั้งเรื่องความปลอดภัยอาหารในโรงเรียน การป้องกันฟันผุ ป้องกันโรคอ้วน ลดโรคผอม การพัฒนาไอคิวอีคิว หวังเด็กไทยสุขภาพแข็งแรง ฉลาดเหมือนอิคคิวซัง
เช้าวันนี้ (10 มกราคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เภสัชกรหญิงวีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมกันแถลงข่าว สธ. มอบของขวัญวันเด็ก ปี 2550
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า เด็กเป็นรากฐานและเป็นต้นทุนทรัพยากรที่สำคัญ ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ จากข้อมูลสำมะโนประชากรล่าสุดประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีจำนวน 12 ล้านคน และจากการสำรวจสภาวะสุขภาพเด็กไทย พบแนวโน้มมีปัญหามากขึ้น ต้องแก้ไขป้องกัน โดยมีปัญหาหลักๆ 4 ประการ คือ 1.น้ำหนักตัวเกินหรือต่ำกว่ามาตรฐาน โดยมีเด็กอ้วนร้อยละ 15 มักพบในเมือง และผอมร้อยละ 8 มักเป็นเด็กชนบท 2.ฟันผุพบร้อยละ 57 ส่งผลให้เด็กขาดสมาธิ ขาดเรียน กินได้น้อย และ 3.ระดับสติปัญญาหรือไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ ผลสำรวจล่าสุดในปี 2544 พบเด็กอายุ 1-6 ปี 1 ใน 3 มีพัฒนาการช้า เด็กอายุ 6-12 ปี และกลุ่ม 13-18 ปี จำนวน 2 ใน 3 มีไอคิวต่ำ ซึ่งตามเกณฑ์ปกติควรจะมี 90-100 จุดขึ้นไป ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอันมาก และ 4.การเจ็บป่วย โรคที่พบมากที่สุดในเด็กกลุ่มนี้คือ โรคจากอาหารและน้ำไม่สะอาด พบเกือบร้อยละ 40
ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบของขวัญชิ้นพิเศษให้กับเด็กไทยทุกคน เป้าหมายสำคัญคือให้เด็กไทยมีสุขภาพดี ขจัดการเจ็บป่วย มีไอคิวไม่ต่ำกว่า 100 จุด เท่าเด็กสากล เฉลียวฉลาดเหมือนอิคคิวซัง ใช้งบดำเนินการตลอดปี ประมาณ 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ การพัฒนาสุขภาพและขจัดโรคภัยในเด็กไทย กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลความปลอดภัยด้านอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในโรงเรียนและชุมชนโดยรอบ ในโครงการปั้นเยาวชนให้เป็น อย.น้อย คุมเข้มเรื่องสารอันตราย ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารกันรา สารฟอกขาว ยาฆ่าแมลง ความสะอาดของน้ำ ที่ผ่านมาดำเนินการในโรงเรียนระดับมัธยมทุกสังกัดทั่วประเทศ รวม 10,256 แห่ง มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน สามารถลดการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงลงได้ถึงร้อยละ 60 และในปีนี้เครือข่าย อย.น้อย จะขยายการดูแลไปสู่โรงเรียนระดับประถมศึกษาและอนุบาลในชุมชนใกล้เคียง ช่วยให้เด็กเล็กปลอดภัยในการบริโภคอาหารมากขึ้นด้วย
การแก้ปัญหาฟันผุ จะให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันแท้ แก่เด็กที่มีฟันแท้ขึ้นซี่แรกตั้งแต่อายุ 6 ขวบขึ้นไปฟรี เพื่อป้องกันฟันผุ โดยเฉพาะฟันกรามซี่แรกซึ่งมีปัญหาผุบ่อยที่สุด เพราะเด็กมักแปรงไม่ถึง และผู้ปกครองมักคิดว่าเป็นฟันน้ำนม จึงปล่อยให้ผุและหลุดเองตามวัย ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำหนักตัว จะดำเนินการในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพปีนี้ 30,000 แห่ง และตั้งชมรมเด็กไทยทำได้ในโรงเรียน 15,000 แห่ง ซึ่งจะรณรงค์ทั้งเรื่องความปลอดภัยอาหาร ความสะอาดส้วม และการดูแลสุขภาพช่องปาก ประเด็นที่เน้นหนักคือ รณรงค์ให้เด็กกินผักให้ได้วันละ 4 ขีด หนุนให้เป็นโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ลดอาหารสหวานจัด และหนุนโครงการอาหารกลางวันของเด็กในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ซึ่งมีเด็กประมาณ 30,000 คน เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กผอม
นอกจากนี้ จะเน้นในการควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพเด็กไทย ที่สำคัญคือ บุหรี่และเหล้า ซึ่งกำลังรุกทำตลาดในกลุ่มเยาวชนวัยรุ่น โดยในปี 2547 เยาวชนไทยอายุ 11-24 ปี ดื่มเหล้าร้อยละ 17 และกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ร้อยละ 15 ซึ่งเด็กที่สูบบุหรี่และดื่มสุรามีแนวโน้มว่าจะอายุน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น ในปี 2550 จะบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ที่มีเยาวชนเข้าไปใช้บริการ เช่น ร้านอินเทอร์เน็ต สนามกีฬา ตู้คาราโอเกะ สวนสาธารณะ และจะขยายพื้นที่ควบคุมในสถานบริการผับ บาร์ในปี 2551 ส่วนการควบคุมเหล้า จะผลักดันพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านเครื่องขายหยอดเหรียญ ห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา
ส่วนการพัฒนาไอคิวและอีคิวเด็กนักเรียน เป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวข้องหลายเรื่อง ตั้งแต่การตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ รวมทั้งการขาดสารที่จำเป็นต่อการพัฒนาเซลล์สมองและประสาท ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการสร้างต้นทุนสมองให้เด็กไทย มี 4 โครงการหลักได้แก่ 1.การดูแลสุขภาพเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ให้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีปีละ 7-8 แสนคนฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขให้ได้ 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งจะมีการตรวจคัดกรองหาโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ติดต่อกัน 6 เดือนให้ได้ร้อยละ 60 โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะหนุนให้ผดุงครรภ์โบราณหรือโต๊ะบีแด ดูแลและนำหญิงตั้งครรภ์มุสลิมมาคลอดที่โรงพยาบาล โดยสนับสนุนงบประมาณปีละ 5 ล้านบาท 2.การพัฒนาศูนย์ดูแลเด็กซึ่งถือว่าเป็นบ้านที่ 2 ของเด็กสมัยนี้ โดยพัฒนาเนิร์สเซอรี่ที่ดูแลเด็กวัยเตาะแตะทั่วประเทศ ให้ได้มาตรฐานปีนี้ 150 แห่ง หรือจังหวัดละ 2 แห่ง และพัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน ทั้งครูพี่เลี้ยง สถานที่ อุปกรณ์ส่งเสริมการพัฒนาเด็ก ตั้งเป้าปีนี้ 10,000 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
3.การแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีน และการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นตัวถ่วงความฉลาดของเด็กไทย โดยเติมสารไอโอดีนในเกลือสมุทร เกลือสินเธาว์ เนื่องจากผลการสำรวจพบว่าเกลือที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ขาดสารไอโอดีนมากถึงร้อยละ 20 ส่วนหนึ่งเกิดจากเก็บเกลือไว้ในที่ถูกแสงแดด ทำให้สารไอโอดีนในเกลือเสื่อมสลายไป โดยจะจัดตั้งชมรมผู้ประกอบการเกลือไอโอดีน เพื่อให้มีความรู้ในการผลิต การผสมไอโอดีน ตลอดจนการจัดเก็บที่ถูกต้องจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ส่วนเรื่องการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเด็กไทยมีปัญหาประมาณร้อยละ 20 หรือ 12 ล้านคน ได้จัดงบซื้อวิตามินเสริมธาตุเหล็ก แจกให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปทุกคน และแจกยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กให้เด็กอายุ 7 ขวบ หรือตั้งแต่ ป.1ขึ้นไปทุกคนกินอาทิตย์ละ 1 เม็ดด้วย
4.การพัฒนาเทคโนโลยีส่งเสริมไอคิว/คิว ในกลุ่มเด็กปกติ ได้ผลิตคู่มือเสริมสร้างไอคิวและอีคิวเด็ก สำหรับพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็ก 25 เรื่อง พัฒนาเครือข่ายส่งเสริมไอคิว/อีคิวเด็กในเครือข่ายโรงเรียนอนุบาล 86 โรง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 85 ศูนย์ และแนะนำรายชื่อหนังสือเกี่ยวกับการเสริมสร้างไอคิว/อีคิวเด็ก เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.iqeqdekthai.com และตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว 15 แห่งทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มเด็กพิเศษ ได้แก่ เด็กออทิสติก และเด็กปัญญาอ่อน ที่มีประมาณร้อยละ 3 ของเด็กทั้งประเทศ ซึ่งต้องได้รับบริการพิเศษต่างจากเด็กทั่วไป เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ พัฒนาเครือข่ายการดูแลเด็กกลุ่มพิเศษ 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเน้นความร่วมมือทั้งจากแพทย์ พ่อแม่ ครู
*************************** 10 มกราคม 2550
View 7
10/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ