รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายเพิ่มศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลชุมชนในปี 2553 อีก 150 แห่ง และในสถานีอนามัย 4 แห่ง เพื่อดูแลผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้ายอย่างครบวงจร หลังพบสถิติเด็กและผู้หญิงถูกทำร้ายในปี 2552 มีจำนวน 22,925 คน เฉลี่ยเกิดชั่วโมงละ 3 คน เพิ่มจากปี 2547 ถึง 228 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาหลักในผู้หญิงคือถูกสามีทำร้ายร่างกาย เพราะเมา หึงหวง ส่วนเด็กเกิดมาจากถูกพ่อแม่ทารุณกรรม ถูกล่อลวง ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทย เห็นเด็กเป็นที่ระบายอารมณ์ทางเพศ และเห็นผู้หญิงเป็นกระสอบทราย
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวการดำเนินงาน ศูนย์พึ่งได้ ซึ่งเป็นบริการดูแลรักษาและช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกทำร้ายอย่างครบวงจร เนื่องในวันความรุนแรงสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ทุกปี และรัฐบาลได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง
นายวิทยากล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดเปิดศูนย์พึ่งได้ บริการผู้หญิงและเด็กถูกทำร้ายเริ่ม 72 แห่งในปี 2547 และเพิ่มเป็น 783 แห่ง ในปี 2552 จากการประเมินสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ในรอบ 5 ปี พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ จากปี 2547 มีเด็ก ผู้หญิงถูกทำร้ายเข้ารับบริการ 6,971 คน เฉลี่ยวันละ 19 คน ในปี 2552 มีผู้เข้ารับบริการทั้งหมด 22,925 คน เฉลี่ยวันละ 63 คน หรือชั่วโมงละ 3 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 12,031 คน และผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป 10,894 คน โดยในกลุ่มเด็กพบมากที่สุดอายุ 11 18 ปี ร้อยละ 87 เป็นเด็กผู้หญิง ส่วนผู้หญิงอายุ 18 35 ปี เมื่อเปรียบเทียบแล้ว สถิติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึง 228 เปอร์เซ็นต์
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ปัญหาความรุนแรงในเด็กและผู้หญิง ที่พบอันดับ 1 ร้อยละ 49 คือการถูกทำร้ายร่างกายเช่น ต่อยเตะ ทุบ ตี อันดับ 2 คือการถูกข่มขืน การละเมิดทางเพศ ร้อยละ 43 อันดับ 3 ได้แก่การทารุณทางจิตใจ ร้อยละ 6 ถูกทอดทิ้งร้อยละ 1 และล่อลวงแสวงหาผลประโยชน์ อีกร้อยละ 1 ผู้กระทำรุนแรงในเด็กส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก เช่น คู่รัก เพื่อน บุคคลในครอบครัว คนร้ายหรือคนที่ไม่รู้จักมีน้อยมาก ส่วนการกระทำรุนแรงในผู้หญิง ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคู่สมรส หรือ คู่รัก จากสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ดี ความหึงหวง ความเมา หากเปรียบเทียบประเภทการกระทำรุนแรงแล้ว ในเด็กจะพบการกระทำรุนแรงทางเพศมากกว่าในผู้หญิง และในผู้หญิงจะพบการกระทำรุนแรงทางร่างกาย เป็นส่วนมาก จากเมาสุรา เมาสารเสพติด หึงหวง แสดงว่าสังคมไทย เห็นเด็กเป็นที่ระบายอารมณ์ทางเพศ และเห็นผู้หญิงเป็นกระสอบทราย
นายวิทยา กล่าวต่ออีกว่า นโยบายของรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญในเรื่อง ความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งการมีครอบครัวที่เข้มแข็ง จึงต้องมีการดำเนินงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ในการป้องกันและช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในสังคม โดยในปีงบประมาณ 2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเปิดศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลชุมชนอีก 150 แห่งทั่วประเทศ และเตรียมขยายลงสู่ระดับสถานีอนามัยด้วย โดยจะนำร่องที่ 4 ตำบลก่อนได้แก่ ต.ปากตะโก อ.ท่าตะโก จ.ชุมพร ต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ต.สามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และที่ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงได้ทันท่วงทีมากขึ้น และให้อสม.เฝ้าระวังปัญหาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงอย่างจริงจัง โดยแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีรถพยาบาลออกปฏิบัติการ นำผู้ป่วยไปส่งต่อยังโรงพยาบาลเครือข่ายที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุที่สุดภายในเวลา 15 นาที และกระทรวงสาธารณสุขจะฟื้นฟู และเยียวยาทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ให้แก่เด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ตลอดจนการจัดหาสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมให้ใหม่ และการช่วยเหลือทางกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นทั้งสังคมเมืองและชนบท องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เป็น1ในหลายๆภาระโรคในทศวรรษนี้ เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในส่วนสังคมไทยส่วนใหญ่ ยังมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิง เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องน่าอาย ไม่อยากให้คนภายนอกรู้ ซึ่งผลกระทบความรุนแรงครอบครัวน่าห่วงหลายเรื่อง หากเป็นเด็กที่เคยถูกกระทำทารุณกรรม จะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา เช่นมีอาการหวาดผวา ไม่ไว้ใจใคร ขาดความมั่นใจ เป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโต อาจกลายเป็นผู้พิการ มีปัญหาการเรียน กรณีเด็กที่ถูกทำร้าย ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจะเกิดการเรียนรู้ความรุนแรงและเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นอันธพาล หากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกวิธี เมื่อโตขึ้นอาจกลายเป็นอาชญากร หรือใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาต่อไป
ส่วนผู้หญิงที่ถูกทารุณกรรมจะได้รับผลกระทบทางจิตใจ สูญเสียความมั่นใจ อับอาย มีความกดดัน เครียด หวาดผวา ลงโทษตัวเอง เพราะคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด บางรายมีอาการทางจิต เสียสติหากถูกกระทำซ้ำๆ และการหย่าร้างจะมากขึ้น
ทางด้านนายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในปี 2553 นี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ (NGO) เพื่อให้สังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยปีนี้กรมฯจัดทำ คู่มือการตรวจวินิจฉัยทางนิติเวช เป็นแนวทางให้แพทย์ในการช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกทำร้าย โดยเฉพาะกรณีการถูกข่มขืน กระทำชำเรา และร่วมกับกรมสุขภาพจิต พัฒนาคู่มือแนวทางการให้ความช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำรุนแรง ขณะนี้ผ่านการทดลองใช้ในโรงพยาบาล 5 จังหวัด ได้แก่พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรีและระยอง และจัดพิมพ์ส่งไปให้สถานพยาบาลทั่วประเทศแล้ว
***************************** 18 พฤศจิกายน 2552
View 17
18/11/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ